“ธนกร” ยันจุดยืน ไม่รวม ม.112 ในร่างนิรโทษกรรม ชี้ ไม่ใช่แรงจูงใจการเมือง ยกคดียุบพรรคก้าวไกลเทียบ คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดแล้ว เชื่อ สภาพิจารณา 26 ก.ย.นี้ รอบคอบ


วันที่ 22 กันยายน 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 กันยายนนี้ ซึ่งให้สภาร่วมกันพิจารณาในความเห็นต่างเรื่องคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งทราบว่าใน กมธ.เอง ไม่สามารถหาข้อสรุป จึงให้สมาชิก กมธ. แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. ไม่รวม มาตรา 112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง
2. รวม อย่างมีเงื่อนไข
3. รวมโดยไม่มีเงื่อนไข

นายธนกร ระบุต่อไป ส่วนตัวยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ชี้ชัดแล้วว่ามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการรณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112 เมื่อมองเทียบเคียงกับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ

...

ดังนั้น ในการประชุมสภาเรื่องนี้ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์ สส. เลือกข้อ 1 คือ ไม่รวมมาตรา 112 ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชันด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง

“ยกคดียุบพรรคก้าวไกลมาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26 กันยายน มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ”