เปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว นั่นก็คือประเด็นที่ว่า ใครขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่ากระทำผิด เรื่องประโยชน์ทับซ้อน หรือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญนำไปตีความ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือขัดจริยธรรมร้ายแรงทำได้หรือไม่

ขณะนี้ พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน กำลังหารือเพื่อเตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้ไขเป็นรายมาตรา ฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขยืนยันว่าสามารถทำได้ ถ้าเป็นการแก้ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญชอบด้วยตามหลักนิติธรรมคือชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้การแก้ไขจะทำให้ตนเอง หรือคนทั่วไปได้ประโยชน์

แต่การแก้ไขกฎหมายในประเทศประชาธิปไตย ต้องทำให้ถูกต้องตามกติกา ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นๆ แต่ที่ว่าที่ผ่านๆมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก ส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะมีกติการะบุว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบของ สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ปัจจุบันมี สว. 200 คน ต้องเห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง

มิฉะนั้น ร่างแก้ไขจะตกไป รัฐธรรมนูญประกาศใช้มากว่า 6 ปีแล้ว มีหลายฝ่าย โดยเฉพาะ สส. หรือพรรคต่างๆ พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ หรือราย มาตรา สาเหตุสำคัญ เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 3 ของ สว.จึงแก้ไขได้แค่เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ

สี่ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นพ้องกันว่าควรแก้ไข ได้แก่ (1) แยกกลไกการตรวจสอบการทุจริตออกจากจริยธรรม โดยถือว่าจริยธรรมคือความรับผิดชอบทางการเมือง (2) ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นผู้ผูกขาดในการให้นิยามมาตรฐานทางจริยธรรมให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม (3) ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ วินิจฉัยกรณีฝ่าฝืนจริยธรรม

...

ประเด็นที่ 4 ประเด็นสุดท้ายที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นพ้องควรแก้ไขมากที่สุด คือการปรับกระบวนการที่ประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาสามารถจะยื่นร้องได้ หากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจโดยมิชอบให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เป็นประชาธิปไตย ยืนยันตรงกันว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น แต่มีบางฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ สส.ได้ประโยชน์ ถ้ายึดหลักการนี้จะให้ใครแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปวงชน นอกจากผู้แทนปวงชน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม