เพื่อไทยนัดเคลียร์พรรคร่วมแก้ รธน.ปมจริยธรรม “สรวงศ์” หวังทำความเข้าใจตรงกันไม่ตัดอำนาจศาล แค่ตีกรอบให้ชัดขึ้น เชื่อทุกฝ่ายเห็นพ้อง “สุทิน” ชี้นักการเมืองเข้มแข็งผลดีตกอยู่กับ ประชาชน ถ้าอ่อนแอชาวบ้านจะไปพึ่งใคร “อนุสรณ์” ฉะข้อหาครอบงำครอบจักรวาลเกินไป “อังคณา” หนุนอีกเสียงแก้กรอบจริยธรรมทำให้รัดกุมขึ้น “สมชาย” ก๊วนลากตั้งถามแก้ไปเพื่อใคร “นิกร” ยันร่างศึกษานิรโทษเข้าสภา 26 ก.ย. โปรดเกล้าฯโผทหาร 808 นาย “บิ๊กปู” ตามโผขึ้น ผบ.ทบ.คนใหม่ เปลี่ยนยกชุด 4 แม่ทัพภาค ทร.ไม่พลิก “บิ๊กแมว” นั่งแม่ทัพเรือ

หลังจาก 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคภูมิใจไทย กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาคัดค้านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ล่าสุดนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เตรียมนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาลเร็วๆนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

พท.นัดเคลียร์พรรคร่วมแก้ รธน.

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คงมีการหารือกันเร็วๆนี้ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยื่นไปแล้ว พรรคเพื่อไทยจะทำความเข้าใจกับพรรคร่วมให้ตรงกันว่า ร่างที่เสนอไปไม่ได้ตัดอำนาจศาลเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม เพียงแต่ตีกรอบให้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสำเร็จ นายสรวงศ์ตอบว่า ตอนแรกมองว่าควรรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ทางพรรคประชาชนเชิญเราไปพูดคุย บอกว่าเขาจะยื่นเราจะว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นความเห็นพรรคการเมืองตรงกันว่าต้องมีการคานอำนาจ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตอนนี้เหมือนว่าการถ่วงดุลไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงเห็นว่าควรแก้เป็นรายมาตราก่อน ส่วนจะผ่านหรือไม่ ต้องคุยกับพรรคการเมืองก่อน การเสนอกฎหมายเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันเรื่องนี้

...

การเมืองเข้มแข็งผลดีตก ปชช.

นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มองว่า ทำไมไม่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนก่อนว่า เรื่องนี้มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนจำนวนไม่น้อย เราฟังเสียงทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาสังคม นักวิชาการ แต่การที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ ไม่ได้รีบร้อนมากจนทิ้งปัญหาของประชาชน จะเห็นได้ว่าเราทำควบคู่กันไป คำนึงความสำคัญของทุกฝ่ายไม่ให้กระทบปัญหาปากท้องประชาชน เมื่อถามว่ามองว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นผลประโยชน์กับนักการเมือง นายสุทินตอบว่า การมองรัฐธรรมนูญต้องมองเป็นหลายชั้น คืออาจมองว่าเป็นประโยชน์กับนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองเข้มแข็งหรือมีอำนาจยึดโยงกับประชาชน สามารถใช้อำนาจนั้นทำงานสนองต่อเจตนารมของประชาชนได้ นั่นคือประโยชน์ของประชาชน ก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอเพื่อทำให้พี่น้อง อย่างไรก็ ตามประชาชนจะได้รับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์ อำนาจของประชาชนก็จะยิ่งใหญ่ด้วย

ถ้าอ่อนแอชาวบ้านจะไปพึ่งใคร

นายสุทินกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญหลายฉบับไปตัดทอนอำนาจ และวางระบบให้นักการเมืองทำงานไม่ได้ ถ้านักการเมืองทำงานไม่ได้ก็จะสนองต่อประชาชนไม่ได้ ฉะนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่ตัวของกฎหมายไปทำให้นักการเมืองอ่อนแอ ประชาชนจะพึ่งใครก็ไม่ได้

ชี้ปมครอบงำครอบจักรวาลเกิน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่หลายพรรคเห็นตรงกันคือการแก้ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมให้ชัดเจน ไม่เกิดปัญหาในการบังคับใช้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอให้ยกเลิกในประเด็นจริยธรรมนี้ เพียงแต่เสนอให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ บนพื้นฐานที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ ส่วนประเด็นปัญหาการครอบงำเป็นคนละส่วนกัน เป็นขั้นตอนเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ต่อสภาผู้แทนราษฎร และพิจารณาแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ ความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรเปิดกว้างให้ทุกคน กฎหมายพรรคการเมืองเรื่องการครอบงำ ควรปรับให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆถือว่าครอบงำไปเสียหมด

ร่างศึกษานิรโทษเข้าสภา 26 ก.ย.

นายนิกร จํานง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเสนอรายงาน กมธ.ต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า เรื่องนี้เสร็จมาเป็นเดือนแล้ว แต่เนื่องด้วยจังหวะของสภาฯ จึงขยับไปพิจารณาในวันที่ 26 ก.ย. กมธ.มีข้อสรุปสำคัญของทุกเรื่องทั้ง สภาพปัญหา และรูปแบบคณะกรรมการ ส่วนความเห็น สำคัญคือความเห็นต่างเรื่องมาตรา 112 ว่าจะรวมอยู่ ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ กมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงให้ กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมอย่างมีเงื่อนไข 3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข สิ่งสำคัญอีกอย่าง ข้อสังเกตของรายงานที่ระบุว่าให้รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้ข้อเสนอ กมธ. คือนับคดีความ 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการประสานจัดทำร่างขึ้นมาเอง และยังมีข้อสังเกตว่า กรณีมาตรา 112 เป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อาจส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย ต้องไปหารือกันจะตีความเรื่องนี้อย่างไร

“อังคณา” หนุนแก้กรอบจริยธรรม

ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหลายพรรคการเมืองเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นกรอบจริยธรรมนักการเมืองว่า ปัญหาประมวลจริยธรรมอยู่ที่การตีความ เช่น เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องนามธรรมเมื่อมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่างๆ ทําให้เกิดการตีความไม่จำกัด เป็นเรื่องน่ากลัวจึงเห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว เพิ่มคำ อธิบายให้รัดกุมขึ้น ส่วนคนตีความต้องมีความเป็นธรรมมากๆ เมื่อกฎหมายให้ใช้ดุลพินิจ เท่ากับอนุญาต ให้เกิดการตีความกว้างขวาง กฎหมายนี้มีความสำคัญ ตอนที่ร่างประมวลกฎหมายจริยธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีโอกาสไปร่วมร่างด้วย โดยเสนอให้รวมกรณีคุกคามทางเพศไปด้วย เพราะเป็นสิ่งไม่ควรเกิดขึ้น รวมถึงการคบค้ากับคู่กรณี

“เทวฤทธิ์” หนุนแก้สั่งยุบพรรค

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประเด็นคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึงแก้ไขกฎหมายยุบพรรคและการครอบงำพรรคว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ต้องแก้ปัญหายุบพรรคที่ เป็นปัญหาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกล ไม่ควรมีโทษเหล่านี้ แต่หากมีข้อหา เช่น ล้มล้างการปกครอง การยุบพรรคก็ไม่ควรเป็นกระบวนการแรก ควรให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ยุบทั้งพรรค พรรคการเมืองไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่รายละเอียดจะแก้อย่างไร ต้องหารือกัน ส่วนข้อวิจารณ์เป็นการแก้เพื่อประโยชน์นักการเมืองนั้น คนมักติดภาพพรรคการเมืองมีเจ้าของ ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีคนบางส่วนกํากับหรือกําหนดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะหายไปจากพรรคการเมือง สุดท้ายการที่พรรคหรือนักการเมืองจะได้มาซึ่งอำนาจ ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเขาแต่เป็นเรื่องประชาชนทุกคน

ก๊วนลากตั้งถามแก้ รธน.เพื่อใคร

นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ คุณสมบัติรัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่ประพฤติผิด จริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะนักโกงเมืองมีคดีทุจริต และประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรงไง รู้ทันการเมืองไทย แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร”

“สุวัจน์” ชูน้ำ 3 สายกระตุ้น ศก.ไทย

ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา อ.เมืองนคร ราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ช่วงนี้รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนพิการ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หรือที่เกี่ยวกับตลาดทุนในตลาดหลักทรัพย์กับการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท จะมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น หรืองบประมาณปี 2568 ที่ผ่านรัฐสภาไปแล้ววงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท เหมือนแม่น้ำ 3 สาย ที่จะนำเม็ดเงินมหาศาลมาสู่พี่น้องประชาชนโดยการจ้างงาน และเข้าไปสู่ภาคธุรกิจ จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปีกระเตื้องขึ้น และยังมีข่าวดี ที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศลดดอกเบี้ย 0.5% เป็นสัญญาณบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะหลังโควิดเกิดปัญหาหนี้สินมากควบคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อ จึงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 4 ปี ไม่เคยลด ฉะนั้นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของคนทำธุรกิจถูกลง เป็นการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจของโลกให้กลับมาฟื้นตัว เป็นสัญญาณที่ดี เศรษฐกิจไทยผูกกับเศรษฐกิจโลก จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีตามไปด้วย รวมทั้งส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยดีขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้ผลรวดเร็วมาก วันนี้ต้องเอาความไทยนิยม ชาตินิยมมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ

เชียร์นายกฯลุยไม่ต้องห่วงหลังบ้าน

นายสุวัจน์กล่าวต่อว่า ขอให้กำลังใจนายก รัฐมนตรีบริหารประเทศให้สำเร็จ ด้วย 1.เป็นนายกฯ สุภาพสตรี 2.อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่มาจากภาคธุรกิจ อายุน้อยมากเพียง 38 ปี ถือว่าเป็นตัวแทน เป็นภาพลักษณ์ของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่จะมาทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ต่างๆหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องร่วมมือช่วยกันทำงานเต็มที่ การจัดทัพตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนกว่า 320 เสียง จากกว่า 10 พรรค ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่ต้องห่วงเสียงในสภาฯ หรือองค์ประชุม ขอให้รัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้เต็มที่ เชื่อว่าประชาชนจะพึงพอใจ ส่วนกรณีมีการร้องเรียนในเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องปกติ เป็นไปตามกติกา ทุกคนมีสิทธิ รัฐบาลต้องระมัดระวังให้มากเพราะมีคนตรวจสอบมากขึ้น

แฟนคลับแห่ให้กำลังใจ “ลุงป้อม” สู้ศึก

ที่สนามกอล์ฟกองทัพบก (ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้การต้อนรับกลุ่มแม่บ้านอาสาสมัครรักษาดินแดนที่มาให้กำลังใจ ด้วยบรรยากาศอบอุ่น พล.อ.ประวิตรอารมณ์ดีให้ความเป็นกันเอง หนึ่งในตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า เดินทางมาให้กำลังใจลุงป้อม และขอให้สู้ๆ และจะสนับสนุนพรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

“บิ๊กปู” ตามโผขึ้น ผบ.ทบ.คนใหม่

ช่วงค่ำวันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวนทั้งหมด 808 นาย ประกาศ ณ วันที่ 20 ก.ย.2567 มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ พล.อ.พนา แคล้วปลอด ทุกข์ “บิ๊กปู” เสธ.ทบ. (ตท.26) น้องรัก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. “บิ๊กแดง” ที่เบียด พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ “บิ๊กหนุ่ย” ผช.ผบ.ทบ. (ตท.24) สายบูรพาพยัคฆ์ และ พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ “บิ๊กหยอย” ผช.ผบ.ทบ. (ตท.24) ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ ไลน์ 5 เสือ ทบ. ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร“บิ๊กต้น” เป็นรอง ผบ.ทบ. พล.อ.วสุ เจียมสุข “บิ๊กชาย” (ตท.25) และ พล.ท.ชิษณุพงษ์ รอดศิริ “บิ๊กรุ่ง” (ตท.26) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผช.ผบ.ทบ. และ พล.ท.ธงชัย รอดย้อย “บิ๊กธง” (ตท.25) รอง เสธ.ทบ. ขยับเป็น เสธ.ทบ.

จัดแถวคุมกำลัง 4 กองทัพภาค

พร้อมกับจัดแถวคุมกำลังระดับกองทัพภาคใหม่หมด อาทิ พล.ท.อมฤต บุญสุยา “บิ๊กใหญ่” (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง “บิ๊กกุ้ง” (ตท.26) แม่ทัพน้อยที่2 เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ “บิ๊กหมึก” (ตท.23) แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 และ “บิ๊กศาล” พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ (ตท.25) รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ณรงค์ฤทธิ์ คัมภีระ (ตท.26) รอง ผบ.นสศ. ขยับเป็นผบ.นสศ. และ พล.ต.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฎฐ์ รอง ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (รอง ผบ.นปอ.) ขยับเป็น ผบ.นปอ.

ทร.ไม่พลิก “บิ๊กแมว” นั่งแม่ทัพเรือ

ด้านกองทัพเรือ (ทร.) ที่ถูกจับตามองมากที่สุดหลังมีกระแสต่อต้านบุคคลจากนอกเหล่ามาเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ ปรากฏว่าเป็นไปตามที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม “บิ๊กดุง” ผบ.ทร. เสนอชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ “บิ๊กแมว” (ตท.23) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.23 เป็น ผบ.ทร.ตามคาด ขณะที่ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ “บิ๊กโอ๋” (ตท.23) ผช.ผบ.ทร. ขยับเป็นรอง ผบ.ทร. พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง “บิ๊กน้อย” (ตท.24) เสธ.ทร. เป็น ปธ. คปษ.ทร. พล.ร.ท.พิจิตต ศรีรุ่งเรือง (ตท.25) ผบ.ทรภ.2 ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร. พล.ร.ท.ไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ (ตท.24) รอง เสธ.ทร. ขึ้นเป็น เสธ.ทร. พล.ร.ท.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช (ตท.25) เจ้ากรมข่าวทหารเรือ ขยับเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ส่วนกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ชัยนาท ผลกิจ (ตท.24) ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทอ. พล.อ.ท.คิดควร สดับ (ตท.24) และ พล.อ.อ.เสกสรร คันธา (ตท.26) เป็น ผช.ผบ.ทอ. และ พล.อ.ท.วชิระพลเมืองน้อย (ตท.27) เป็น เสธ.ทอ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่