ผมเพิ่งอ่าน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายนสกู๊ปปกเรื่อง “ประธานสภาพัฒน์ มองอนาคตประเทศไทย” ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์เอกซ์คลูซีฟ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คนใหม่ เป็นการ มองภาพ “อนาคตประเทศไทย” ในฐานะที่เป็น Think Tank ของรัฐบาล มีหน้าที่เสนอนโยบายเศรษฐกิจต่อรัฐบาลโดยตรง ดร.ศุภวุฒิ มีความเห็นว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันเป็นโจทย์ที่ยากมากและท้าทาย แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วยังเห็นว่า ประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงจะสามารถก้าวพ้นกับดักต่างๆ ไปได้
ดร.ศุภวุฒิ ได้ชี้ให้เห็นถึง จุดอ่อน และจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ พร้อมกับตั้งคำถามที่ท้าทายว่า “ประเทศไทยกล้าเปลี่ยนไหม”
ดร.ศุภวุฒิ ได้ยกตัวอย่าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในอดีต รวมถึง วิธีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ในอดีต จนทำให้ประเทศ ไทยเข้าสู่ “ยุคโชติช่วงชัชวาล” และเกือบจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ช่วงนั้น เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตร้อนแรงกว่า 10% จนรัฐบาลต้องทำงบประมาณเกินดุลเป็นครั้งแรก เพื่อฉุดความร้อนแรงของจีดีพีลงมา แตกต่างจากรัฐบาลไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต้องทำงบประมาณขาดดุลทุกปี ต้องกู้เงินมาอุ้มจีดีพีกันทุกปี จนถึงวันนี้ รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากกว่า 11 ล้านล้านบาท เกือบ 64% ของจีดีพี ซึ่ง นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงในรัฐสภาวันแถลง นโยบายว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลจะชนเพดาน 70% ในปี 2570 อีก 3 ปีข้างหน้า
ดร.ศุภวุฒิ ประธานสภาพัฒน์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น “ที่ปรึกษานายกฯ” อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ชี้ให้เห็นถึง “3 โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไข” ดังนี้
...
1. สัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีลดลง หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง สัดส่วนการส่งออกของไทยขยายตัวถึงจุดสูงสุดที่ 71.4% ของจีดีพี แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกของไทยลดลงเหลือ 65.4% ของจีดีพี เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก
เมื่อการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพีลดลง ขีดความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง
2. รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณเพื่อพยุงเศรษฐกิจมากขึ้นช่วงปี 2518–2522 ไทยเผชิญวิกฤติราคานํ้ามันแพง เงินเฟ้อสูง จีดีพี ของไทยมีการขยายตัวเฉลี่ย 6.8% รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล 3.2% ของจีดีพี หมายความว่า รัฐบาลต้องกู้เงินมา 3.2% ของจีดีพี เพื่ออุ้มให้จีดีพีมีการเติบโตที่ 6.8% ต่อมา ช่วงปี 2523–2539 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตดีมากจากภาคการผลิต ทำให้รัฐบาลต้องชะลอเศรษฐกิจให้คลายความร้อนแรงลง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตสูงถึง 8.6% ไม่เช่นนั้นอัตราการเติบโตที่แท้จริงจะพุ่งไปถึง 10% ปี 2552–2562 จีดีพีไทยเติบโตเฉลี่ยที่ 3.2% รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล 2.4% ของจีดีพี สะท้อนว่าที่จริงแล้วจีดีพีเติบโตได้เองเพียง 1% เท่านั้น หลังโควิดปี 2565–2566 จีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2.2% รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลถึง 4.2% ของจีดีพี แสดงว่าจีดีพีจริงๆ ติดลบถึง –2% และ ปี 2567 ปีนี้รัฐบาลคาดว่าจีดีพีจะโต 2.6% และทำงบประมาณขาดดุล 3.7% จีดีพีจริงปีนี้คือติดลบ –1.1% น่าตกใจไหม
3. คนรวยที่มีเงินออมส่วนเกินนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศ ช่วงหลังโควิด ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.5% เพราะคนรวยมีเงินเหลือ เอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ ไปสร้างความเจริญในต่างประเทศ แบบนี้ประเทศก็โตไม่ได้
ดร.ศุภวุฒิ ยังได้ชี้ให้เห็นถึง จุดแข็งของไทย ตั้งแต่ ภาคการเกษตร อาหาร ต่อยอดไปสู่ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพ เป็น service Center of Asia หรือ Wellness Center of the World โดยตั้งคำถามที่ท้าทายว่า “ประเทศไทยกล้าเปลี่ยนไหม” ข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์มีเยอะมาก แต่เนื้อที่มีจำกัด ผมจึงเก็บมาเล่าย่อๆเพียงบางส่วนเท่านั้น.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม