“พริษฐ์” เตรียมเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ทบทวนอำนาจยุบพรรค-ตีความมาตรฐานทางจริยธรรม รับ กังวลใจหากรัฐบาลไม่วางแผนรอบคอบ อาจไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าตามสัญญาไว้

วันที่ 18 กันยายน 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดเผยที่รัฐสภา ถึงการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของพรรคประชาชน ว่า เป็นการเดินคู่ขนาน เร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็ว ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งพรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกมาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหารไปแล้ว คาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 25 กันยายน 2567 ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังดำเนินการ คือการแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยมี 2 ประเด็น ได้แก่

1. ทบทวนแก้ไขอำนาจการยุบพรรค ซึ่งจะต้องยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชน รวมถึงเงื่อนไขการยุบพรรค คาดว่าจะมีร่างฉบับกลางที่เซ็นร่วมกันในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจมีร่างของพรรคการเมืองอื่นยื่นประกบ

2. ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม แต่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญสามารถปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างสุจริต การที่รัฐธรรมนูญ 2560 นำมาตรฐานทางจริยธรรมมาบรรจุในกฎหมายอาจเกิดปัญหาได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมสูง แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมและบังคับใช้กับทุกองค์กร

...

ทั้งนี้ สิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหา คือการนำเรื่องที่เป็นนามธรรมในจริยธรรมกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย และให้อำนาจกับองค์กรกลุ่มเดียวในการนิยาม มีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย สิ่งที่ต้องการเห็นคือการปรับปรุงกำกับจริยธรรม โดยมองว่าเรื่องจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งสำคัญคือความรับผิดชอบทางการเมือง ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันของพรรคอื่นนั้น ต้องดูเนื้อหารายละเอียด พร้อมมองว่าหลายพรรคเห็นปัญหาคล้ายกัน แต่แนวทางการแก้ไขอาจแตกต่าง ในท้ายที่สุดทุกพรรคการเมืองที่ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะไปจบที่การพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา เป็นโอกาสดีที่จะรับประกันและถกเถียงเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ

สำหรับกรณีที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลชุดนี้ยังมีจุดยืนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนเดิม คือ ไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 นั้น นายพริษฐ์ ตอบว่า จุดยืนของพรรคประชาชนยังเหมือนเดิม ซึ่งเห็นต่างกับทางรัฐบาล การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นการยกเว้นปรับปรุงเนื้อหาหมวด 1 เพียงแต่วางกรอบไว้ว่า การแก้ไขจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ ที่ผ่านมาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีการปรับปรุงหมวด 1 และ 2 ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนให้ความสำคัญในเรื่องคำถามประชามติ แม้รัฐบาลจะมีจุดยืนไม่ต้องการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 แต่คำถามประชามติควรเป็นในลักษณะที่เปิดกว้าง ไม่นำเงื่อนไขดังกล่าวมากำหนดไว้ “หากรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันประเด็นคำถามเดิม ซึ่งเป็นการถาม 2 เรื่องในคำถามเดียวกัน กังวลว่าจะเกิดความไม่ชัดเจนกับประชาชนที่เห็นด้วยในบางส่วนของคำถาม ทำให้ส่งผลไปถึงการลงประชามติ ซึ่งพรรคประชาชนประเมินว่าโอกาสที่จะทำให้ประชามติผ่านความเห็นชอบลดน้อยลง”

ผู้สื่อข่าวถามต่อ ประเมินกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเวลา 3 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาลอย่างไร นายพริษฐ์ ระบุว่า กระบวนการทำฉบับใหม่อาศัยเวลา หากเดินตามแผนของรัฐบาลที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และ 1 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้เวลาถูกบีบ และตัวแปรเยอะเกินกว่าจะฟันธงได้ แต่ยอมรับว่ากังวลใจ หากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบอาจไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ พร้อมย้ำในตอนท้ายว่า ฝ่ายค้านไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามยื่นข้อเสนอและเร่งรัดกระบวนการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็ว