ที่ประชุมสภา คว่ำร่างแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ยกเลิกเงินนอกงบประมาณกองทัพ “วิโรจน์” ชี้ กมธ.งบประมาณตั้งข้อสังเกตกันทุกปี แต่กลับตรวจสอบไม่ได้ ด้าน “อดิศร” บอก บางทีเป็น สส.ฝ่ายรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก


วันที่ 18 กันยายน 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ซึ่งนำเสนอโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เพื่อให้การบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยแก้ไขให้รัฐบาลต้องเปิดเผยภาระทางการคลังผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และให้การจัดการเงินนอกงบประมาณโดยที่ไม่ต้องนำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำกับเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขอรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไปพิจารณาเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งครบกำหนดกลับเข้าสู่การพิจารณาต่อในสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ พร้อมด้วยข้อสังเกตของ ครม. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นายวิโรจน์ อภิปรายต่อข้อสังเกตที่ ครม. มีกลับมาว่า หลักการสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีอยู่ 2 ประการ คือ 1. การสร้างความโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญด้านงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นภาระทางการคลัง สถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง และ 2. การปรับปรุงการจัดการเงินนอกงบประมาณให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานใดที่มีความจำเป็นในการจัดการเงินนอกงบประมาณด้วยตัวเองก็ยังคงทำได้ โดยเฉพาะกองทัพ ที่มีการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณถึงปีละเกือบ 20,000 ล้านบาท แต่ต้องมีการตรากฎหมายในระดับ พ.ร.บ. มากำกับ มีการตรวจสอบตามหลักการทางบัญชี และมีการเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย

...

เมื่ออ่านข้อสังเกตที่ ครม. ตีกลับมาก็ยิ่งตกใจ เพราะไม่มีความใส่ใจต่อข้อสังเกตใด ๆ ของคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ เลย การแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ตนทึกทักนึกเอา แต่มาจาก ส.ส.ทุกพรรคทุกคน ผ่านรายงานข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.งบประมาณของทุกปี รวมทั้งในปีล่าสุด 2568 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “กระทรวงกลาโหมเป็นเพียงกระทรวงเดียวที่มีเงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 ซึ่งใช้ระเบียบที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลัง” และยังย้ำอีกว่า “ควรมีข้อมูลรายละเอียดของเงินนอกงบประมาณมาแสดงเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดสรรงบประมาณ”

สำหรับปี 2567 ก็มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่ามีการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณสูงถึง 46,000 ล้านบาท ย้อนกลับไปปี 2566 มีการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณสูงถึง 1.05 แสนล้านบาท ส่วนปี 2565 มีการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณมหาศาลในระดับ 1.4 ล้านล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการฯ มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องเดิมทุกปี ก็คือเงินนอกงบประมาณไม่สามารถตรวจสอบได้ มีความซ้ำซ้อน และขาดความโปร่งใส ตนขอตั้งคำถามว่าในฐานะผู้แทนราษฎรเราทำได้แค่ตั้งข้อสังเกตแล้วมองตาปริบๆ มากี่ปีกันแล้ว แล้วเราจะสังเกตกันแบบนี้ไปอีกถึงเมื่อไหร่

นอกจากนี้ จากรายงานที่คณะกรรมการกฤษฎีกา รวบรวมความเห็นหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ มีแต่ระบุเหตุผลในเรื่องความคล่องตัว แต่ไม่มีหน่วยงานใดชี้แจงว่าจะสร้างความโปร่งใสและลดความซ้ำซ้อนของการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่คณะกรรมาธิการฯ ทุกชุดทุกปีตั้งข้อสังเกตได้อย่างไร ในฐานะ สส. เราสามารถแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ ให้การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณมีความโปร่งใสได้

“ผมขอร้องเพื่อนสมาชิก ขอให้เราทุกคนร่วมกันยืนหยัดกล้าหาญที่จะรับร่างกฎหมายฉบับนี้ เหมือนตอนที่เราโหวตเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นเอกฉันท์กันแทบทุกปี ถ้าไม่ทำเพื่อจัดการเงินนอกงบประมาณให้โปร่งใส ในปีต่อ ๆ ไปเราไม่ต้องมาตั้งข้อสังเกตอะไรอีกแล้ว ผมเสนอว่าพอถึงหน้าเงินนอกงบประมาณให้เอาแถบสีดำคาดเอาไว้ แล้วพิมพ์เอาไว้ว่าไม่มีข้อสังเกตอะไรอีกแล้ว เพราะไม่รู้จะสังเกตไปเพื่ออะไร”

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายก่อนที่จะมีการลงมติ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้จะมีมติอย่างไรออกมาตนยังไม่ทราบ แต่เมื่อมีมติวิปแล้วต้องปฏิบัติตาม ตนไม่ขออยู่ในที่ประชุม ก็คือจะออกเสียงในการงดใช้สิทธิ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากมีโอกาสเป็นผู้แทนราษฎรแล้วเราไม่แก้ไข เงินนอกงบประมาณก็จะเป็นข้อสังเกต เป็นไส้ติ่งของ พ.ร.บ.งบประมาณทุกปี ตนพูดด้วยความเจ็บปวด บางทีเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราจับการทุจริตซึ่งๆ หน้าได้แล้วเราไม่ทำต่อ เราจะเป็นผู้แทนราษฎรที่สง่าผ่าเผยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงเข้าสู่การลงมติในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก ได้ลงมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ เป็นผลให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐเป็นอันตกไป สำหรับผลการลงมติเป็นดังนี้

  • เห็นด้วย 143
  • ไม่เห็นด้วย 245
  • งดออกเสียง 3
  • ไม่ลงคะแนนเสียง 3