“รองนายกฯ ภูมิธรรม” นำถกศปช.นัดแรก เตรียมสรุปมาตรการเยียวยาน้ำท่วม เร็วสุดสัปดาห์นี้ ก่อนชง ครม. หลังอนุมัติงบก้อนแรกไปแล้ว 3,045 ล้านบาท ด้าน “ผบ.ทสส.” ยืนยัน กองทัพอยู่ในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยเชียงราย เตรียมพร้อมรับมือพายุลูกใหม่ในพื้นที่อีสาน


วันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ห้องประชุม 108 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567 ต่อมา นายภูมิธรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ อาทิ ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์ การบูรณาการแก้ปัญหาให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล และการคาดการณ์ วิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือน ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการวางแผนการเคลื่อนย้าย การจัดเตรียมที่พักอาศัย และการจัดส่งอาหารเครื่องมืออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นแม่ข่าย และให้มีการประสานค่ายโทรศัพท์ต่างๆมาร่วมเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที เชิญหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแก้ไขปัญหา และรายงานผลการดำเนินงานต่อ ศปช. ทราบเป็นระยะๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของฝนหรือพายุที่จะเข้าไทยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน คาดว่าจะจบกลางเดือน ต.ค. แต่อาจจะเกิดขึ้นพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น ศปช.จะดำเนินการเฉพาะหน้าอย่างต่อเนื่องจนจบสถานการณ์ ซึ่งคาดว่า จะจบในปีนี้ ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน

...

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือการเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA. สารสนเทศของกรมทรัพยากรน้ำ หน่วยงาน ปภ.กรมอุตุนิยมวิทยา โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับผิดชอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบทิศทางลม มรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนจะสามารถจ่ายได้เร็วที่สุดช่วงเวลาใดนั้น ซึ่งการประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ได้มีมติอนุมัติงบฯ ช่วยเหลือ 3,045 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้ทันที และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และพยายามไม่ทำให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย เรื่องนี้นายกฯ ได้สั่งการไปแล้ว เวลานี้หัวใจสำคัญที่สุดคือให้เราได้รู้สึกว่าการดูแลเยียวยา หากเรามัวรอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรก็จะใช้เวลา จึงได้มีมติอนุมัติในเงินก้อนแรก 3,045 ล้านบาท ซึ่งใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องที่สำคัญคือการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และแยกออกจากความเสียหายพืชผลจากไร่นาต้องรออีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน อย่างไรก็ตามได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หนึ่งชุด เพื่อหาข้อสรุปการเยียวยา การทบทวนกฎระเบียบการเยียวยา จะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ให้มีมติเห็นชอบต่อไป 

ผู้สื่อข่าวถามว่า รับทราบถึงพายุที่จะเข้ามาหรือไม่ และเตรียมรับมืออย่างไร ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า วันที่ 20 -22 ก.ย. พายุลูกนี้จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.บึงกาฬ จ.นครพนม โดยจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศเวียดนามและสปป.ลาว ทั้งนี้ จะมาถึงไทยบริเวณแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยจะเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบทั้งหมด หลังจากนั้นจะลดระดับเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางไปจนถึงภาคเหนือตอนบน จะได้รับผลกระทบมากหน่อย โดยเฉพาะจ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก เพราะฉะนั้นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนจะได้รับผลกระทบมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งภาคอื่นก็ได้รับผลกระทบด้วยเหมือนกันโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกเกือบทุกจังหวัด

ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฝนที่ตกลงจะส่งผลเพิ่มปริมาณน้ำ บางแห่งอาจจะเกิน 100 มิลลิเมตร เพราะตกซ้ำๆ หลายวัน ซึ่งน่าจะเกิน 100 มิลลิเมตรหลายพื้นที่ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเส้นทางที่พายุเคลื่อนผ่าน โดยพายุครั้งนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากยังมีได้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ริมตลิ่งอาจจะล้นมากหน่อย 

เมื่อถามว่า ประชาชนต้องยกของขึ้นที่สูงก่อนหรือไม่ หรือต้องรอการแจ้งเตือนก่อน นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราจะดำเนินการทันที ซึ่งการแจ้งเตือนมีอยู่แล้วโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เพื่อที่จะดูแลประชาชน ซึ่งจริงๆเราอยากเห็นการทำนายของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เป็นลักษณะเป็นที่เฉพาะด้วย ไม่ใช่ภาพกว้างอย่างเดียว อยากให้ชี้เป้าเพื่อการทำงานที่ง่าย

ด้านพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยว่ากองทัพทำงานอย่างเต็มที่ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับการเตรียมรับมือพายุลูกต่อไป ในพื้นที่ภาคอีสาน

เมื่อถามว่า ช่วงใกล้เกษียณอายุราชการ การทำงานของหน่วยต่างๆ จะไร้รอยต่อใช่หรือไม่ พลเอกทรงวิทย์ ยืนยันว่าจะไม่มีรอยต่อทุกคนจะต้องทำงาน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และเชื่อว่าทหารทุกคนที่จะเกษียณอายุราชการจะยังคงปฏิบัติหน้าที่

พลเอกทรงวิทย์ ยังระบุอีกว่า เมื่อสักครู่ได้หารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งหน่วยบัญชาการกองทหารพัฒนาอยู่ในกองทัพไทยอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และจะร่วมมือกับทางปภ. เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้เร็วขึ้นรวมไปถึงหน่วยกองทัพบกมีกำลังพลอยู่ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งเครื่องมือ และกำลังพล ซึ่งกรมทหารพัฒนาถือเป็นหน่วยที่อยู่ในสนามอยู่แล้ว จึงต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมงให้ได้ นี่คือเป้าหมาย

พลเอกทรงวิทย์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 นาย รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด