โมเดลเลือกตั้งซ่อม สส. ที่พิษณุโลกซึ่งพรรคประชาชนพ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยทั้งๆ ที่พื้นที่นี้ “ก้าวไกล” พรรคประชาชนเก่าเคยยึดครองมาด้วยคะแนนมากกว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้
อีกทั้งพื้นที่นี้ “เพื่อไทย” ไม่เคยมี สส.มาก่อน พูดง่ายๆ คือ ไม่เคยชนะเลือกตั้งได้เลย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมายังแพ้พลังประชารัฐด้วยซํ้าไป
ก่อนวันเลือกตั้งใครก็คงคิดว่า “ประชาชน” ชนะแน่
เพราะนอกจากจะพื้นที่เก่าแล้วยังเป็นการเลือกตั้งระดับชาติแม้จะไม่เต็มรูปแบบก็ตามแต่ ไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นก็แล้วกัน
เมื่อผลออกมาอย่างนี้ขอพูดว่า “พลิกล็อก” ก็น่าจะได้
ทำให้แกนนำ “ประชาชน” รวมถึงบรรดาผู้สนับสนุนที่แห่กันไปช่วยหาเสียงเต็มทีมคงต้องกลับไปคิดกันแล้ว
แม้จะบอกว่าการเลือกตั้งมีแพ้-ชนะเป็นของธรรมดาก็จริง
แต่เมื่อผลออกมาอย่างนี้ก็เท่ากับว่าทฤษฎีที่คิดกันไว้นั้นผิดคลาดเสียแล้ว แม้จะอ้างว่าคนไปใช้สิทธิน้อย ไม่มีกระแสการเลือกตั้งไม่เต็มรูปแบบก็ตาม
นั่นเป็นเรื่องที่ “ประชาชน” ต้องกลับไปถอดบทเรียนกันใหม่แล้วที่คิดหรือปฏิบัติมานั้นไม่ใช่วิธีที่จะเอาชนะใจประชาชนได้
พูดง่ายๆ คือ ยังไม่เข้าถึงจริงและยังไม่ได้ใจประชาชนพอ
อย่างหนึ่งที่พรรคประชาชนยึดมั่นก็คือ “อุดมการณ์” ของพรรคที่สามารถทำให้ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 มาได้นั้นยังไม่เพียงพอ
เพราะประชาชนยังคิดถึงเรื่องใกล้ตัวคือ ปัญหาปากท้องไม่ใช่เรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ทั้ง 2 อย่างจะต้องเดินไปคู่กันในสนามเลือกตั้ง
เพราะนี่คือชีวิตจริงของพวกเขา!
“เพื่อไทย” ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะนอกจากจะได้รัฐบาลใหม่ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
...
ประเดิมด้วยการชนะเลือกตั้งซ่อมเป็นครั้งแรก
เท่ากับว่าความสัมพันธ์ทั้งสองส่วนนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น พูดง่ายๆว่าเกื้อกูลกันอย่างมีนัยสำคัญ
อันบ่งบอกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลนั้นทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หากสามารถสร้างผลงานดีและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
ย่อมเหนือกว่าพรรคคู่แข่งคือ “ประชาชน” อย่างแน่นอน
อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการสร้างผลงานให้ประชาชนพอใจแล้วการที่สามารถจับให้พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกลมเกลียวกันอย่างนี้ได้
การเลือกตั้งปี 2570 ปิดประตูแพ้ได้เลย...
“เพื่อไทย” พยายามบอกกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าแนวทางนี้คือทุกพรรคเกาะกลุ่มไม่แข่งกันเอง ตกลงกันให้ชัดเจนก่อนเลือกตั้ง
ผลลัพธ์ที่จะได้คือ การเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลกโมเดล
วันนี้ทุกพรรคค่อนข้างจะคล้อยตามแนวคิดนี้แล้ว เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือเปล่าเท่านั้น
เพราะทุกพรรคต่างก็ต้องการที่จะชนะเลือกตั้ง การหลีกทางให้กันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่คนเจรจาเรื่องนี้ต้องปราดเปรื่องและจัดสรรให้ลงเท่านั้น
นี่เป็นเรื่องที่ “เพื่อไทย” กำลังหาวิธีการเดินไปสู่จุดนั้นให้ได้!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม