เกิดวิวาทะกันเกี่ยวกับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากการเปิดเผยของนายเชตวัน เตือประโคน สส.พรรคประชาชนว่า มีการเผยแพร่หนังสือต้องห้าม เขียนโดยอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

สส.เชตวัน กอ.รมน.ขอให้ระงับการจำหน่ายหนังสือ ตนสงสัยว่าเป็นคำสั่งของใคร เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ชี้แจงว่า ได้ทำการตรวจสอบ พบว่าผู้เขียนไม่ใช่อาจารย์ผู้สอน เกี่ยวกับเรื่องที่เขียน

โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า การนำเรื่องที่เป็นเท็จไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆส่งผลให้เกิดความเสียหาย ทำให้สังคมเข้าใจผิด กระทบต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน กอ.รมน.จึงขอความร่วมมือในการระงับการจำหน่าย และจะประสานมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ให้พิจารณาเรื่องจริยธรรม และอาจจำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

หลังจากที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าว รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายอมรับว่า เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ที่ชื่อว่า “ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมของกองทัพ” โดยปรับปรุงจากหนังสือภาษาอังกฤษที่ตนเป็นผู้เขียน ส่วนเล่มภาษาไทยราคา 360 บาท

เรื่องนี้กลายเป็นข่าวที่น่าสนใจ เนื่องจากนักวิชาการผู้เขียนเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นายกรัฐมนตรีแพทองธารเรียนจบ และขณะนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. ที่จะขอให้ระงับการจำหน่ายหนังสือ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะที่การจ้องเอาผิดนักการเมือง ในความผิดจริยธรรมกำลังเฟื่องฟู

ในช่วงเวลาเดียวกัน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัย และข้อกำหนดจริยธรรม และจารีตประเพณี ทำให้คณะรัฐมนตรีถอยหลัง มีมติให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กลับไปทบทวน และฟังความเห็น

...

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น และเสรีภาพทางวิชาการ เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ เขียนรับรองไว้เกือบทุกฉบับ (ยกเว้นฉบับอำนาจนิยม) และเป็นเรื่องที่นานาประเทศประชาธิปไตยยอมรับนับร้อยๆปี แต่คนไทยยังเถียงกันไม่จบ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม