ปกติรัฐบาลใหม่ไม่ว่าชุดไหนก็ตามเมื่อเริ่มต้นทำงานก็ต้องจัดระเบียบบุคลากรที่จะสนับสนุนการทำงานให้ราบรื่น

ซึ่งก็มีอยู่ 2 ส่วน

1.ข้าราชการการเมืองมาจากเครือข่ายของนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อเป็นการตอบแทนและเยียวยาผู้ที่ผิดหวังไม่ได้ตำแหน่ง

2.ข้าราชการประจำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบงานขับเคลื่อนไปได้ดี เพราะนักการเมืองแม้จะมีตำแหน่งแล้วแต่ก็ต้องมีลูกมือทำงาน

หากได้ลูกมือดีๆ รู้งานมากก็จะช่วยได้มาก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่มักจะไม่มีความรู้โดยเฉพาะในรายละเอียด ระเบียบและองค์ความรู้

ที่สำคัญก็คือเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลอยู่หรือไปได้

ในส่วนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่รัฐมนตรีแต่ละพรรครับผิดชอบก็คงจะเลือกข้าราชการที่มักคุ้นหรือพบว่ามีความสามารถจริงๆ

ก็จะผลักดันให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆในกระทรวงนั้นๆ

คือได้ทั้งงานและได้ทั้งพวก!

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่นักการเมืองจะรู้แล้วว่าใครเป็นใครและพร้อมจะเอามาเป็นพวกเพื่อวางฐานการทำงาน

อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญต่อการสร้าง “อิทธิพล” ในระบบราชการอีกด้วย

โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆ อย่างมหาดไทยซึ่งเป็นกระทรวงใหญ่และรับผิดชอบทั่วราชอาณาจักรไปตั้งแต่ผู้ว่าฯ ลงไปกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและองค์การบริหารส่วนจังหวัดไปถึงตำบล

พูดง่ายๆว่าเจ้ากระทรวงคือ “นายใหญ่” ที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงแผ่กระจายไปทั่วประเทศ ปกติพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลจะยึดกระทรวงนี้เป็นหลัก

เพราะนอกเหนือจากงานในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว

ยังมีผลทางการเมืองที่คุมข้าราชการทั่วประเทศแล้วยังส่งผลต่อการเลือกตั้งด้วย แม้ปัจจุบันมหาดไทยไม่ได้รับผิดชอบโดยเป็นหน้าที่ของ กกต.

แต่ในสภาพความเป็นจริงมหาดไทยนี่แหละ...คือกลไกสำคัญสุด

...

ประเทศไทยนั้นหน่วยงานที่สำคัญสุดและรัฐบาลโดยพรรคแกนนำจะให้น้ำหนักไปในเรื่องความมั่นคง

1.กองทัพ

2.ตำรวจ

ไม่นายกรัฐมนตรีดูแลเองก็ต้องเป็นรัฐมนตรีกลาโหม อย่างปัจจุบันนายกรัฐมนตรีแม้ไม่ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมแต่ขอดูแล ก.ตร. ซึ่งจะแต่งตั้ง ผบ.ตร.ซึ่งเป็นกลไกรัฐที่สำคัญ

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหม ดูแลรับผิดชอบด้านความมั่นคงทั้งหมด เพราะเป็นที่ไว้วางใจของนายกรัฐมนตรีและมีประสบการณ์สูง

การเมืองไทยกับกองทัพนั้นเป็นของคู่กัน และแยกกันไม่ออกต่างฝ่ายต่างก็รักษาความห่างให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม

“กองทัพ” มีปืน

“การเมือง” มีอำนาจ

ถ้าสองส่วนนี้ขัดกัน ไปด้วยกันไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาใหญ่โดยเฉพาะการรัฐประหาร และยึดอำนาจจึงต้องสร้างจุดสมดุลให้ได้

ที่ผ่านมา พอมีปัญหาต่างก็โทษกันและกันมาตลอด

จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักให้ดี และอยู่ร่วมกันให้ได้

อย่าล้ำเส้นกันและกันเป็นดีที่สุด!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม