เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในศตวรรษที่ 21

หัวใจสำคัญสำหรับการเมืองของโลกสมัยใหม่

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ บอกกับ “ทีมการเมือง” ให้เห็นภาพนโยบาย

การต่างประเทศของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เป็นเนื้อเดียวกับนโยบายสาธารณะ ยัง

ประโยชน์ให้กับประเทศของทั้ง 2 ประเทศ

ยุคนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดึงโลกทั้งใบเข้ามาแนบชิดกันมากขึ้น ตลาด

มันใหญ่ขึ้น เปรียบเหมือน “ขนมเค้กก้อนใหญ่ขึ้น” เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ

ประเทศใดประเทศหนึ่งกินเค้กหมดทั้งก้อนได้ มันต้องแบ่งกัน วินวินไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ในช่วงหลังๆบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ มีคำพูดออกมาถึงความร่วมมือของกลุ่ม

ที่มีความเห็นหรือมีผลประโยชน์ต่างกัน จุดลงตัวที่สุดทำให้เกิดจุดสมดุลในทุกเรื่อง

บาลานซ์อำนาจการเมืองระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจภายใต้โลกแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆในภูมิภาค บางกลุ่มอิง 2 ขั้วอำนาจที่กำลังรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน แต่ละขั้วอำนาจ

...

ต่างต้องการผลประโยชน์ของเขา

“สิ่งสำคัญที่สุด ไทยต้องวางบทบาทให้เป็นตัวที่สามารถเชื่อมต่อทุกประเทศ ทุกกลุ่ม ทุกประเทศมหาอำนาจได้ สร้างบาลานซ์มีความสำคัญมาก

อาทิ ไทยไม่สามารถเข้าร่วมกับมหาอำนาจทุกฝ่าย แต่มีบทบาทร่วมกับมหาอำนาจได้ เป็นตัวเชื่อมต่อได้ ที่สำคัญที่สุดทุกคนทราบดีว่าไทยมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ไทยไม่ใช่ประเทศเป็นกลาง แต่ต้องการมีบทบาทร่วมมือกับทุกกลุ่ม สร้างความเจริญให้ทุกกลุ่ม แต่จะเป็นผู้นำตรงนี้ก็ไม่ง่าย เพราะมีข้อจำกัดหลายปัจจัย บทบาทตรงนี้จึงอยู่บนพื้นฐานความสมดุล”

ไทยเป็นมิตรทั่วโลก ไม่มีศัตรู สากลยอมรับ

แต่ระดับเป็นมิตรขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ผ่านนโยบายที่ถูกต้อง 

ชั่งน้ำหนักระดับความเป็นมิตร ความร่วมมือในลักษณะไหน สิ่งสำคัญ

ที่สุด รมว.ต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี รัฐบาลมองกรอบของประเทศกำลังพัฒนาควรมีท่าทีชัดเจน

เป็นตัวช่วยไทยบาลานซ์กับมหาอำนาจได้ดี

รวมถึงกลุ่มบริกส์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโต เป็นตลาดใหม่มีศักยภาพ บทบาทกลุ่มนี้เป็นประเทศแกนหลักของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องมีแกนหลักช่วยดันให้เกิดความร่วมมือแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สามารถสร้างพลังต่อรองกับมหาอำนาจได้

นับเป็นความเข้มแข็งที่จำเป็นต้องร่วมกัน ช่วยวางแนวทางระเบียบโลกใหม่ร่วมกัน 

เน้นความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม โดยเซตภูมิรัฐศาสตร์หรือสร้างความไม่เท่าเทียมในเรื่องการเมืองเอาไว้ต่างหาก

ฉะนั้นขอย้ำรัฐบาลแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไปสู่ยุทธศาสตร์ที่เสริมสร้างโอกาสไทย โดยรักษาจุดยืนไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ มุ่งมั่นทำงานร่วมกับนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน พร้อมเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก สร้างซอฟต์พาวเวอร์

แก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระบบทวิภาคี พหุภาคี เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก โดยเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) สานต่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ซึ่งทำให้ไทยก้าวขึ้นไปอีกระดับ เพื่อมีสิทธิและเกียรติที่สามารถทำงานร่วมกับประเทศพัฒนาแล้วได้

โดยไทยให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ไม่เอาค้ามนุษย์ ไม่เอาคอร์รัปชัน อาชญากรรมออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ เปรียบเหมือนศัตรูร่วม ประเทศใดประเทศหนึ่งแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้

โลกเปลี่ยน ความร่วมมือของประเทศก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลวางกรอบสายกลางให้มากขึ้น ผ่านนโยบายทำงานร่วมมือกับทุกๆกรอบ ทุกๆ ความเห็นที่แตกต่าง

เพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วมที่มาในรูปแบบใหม่

ส่วนการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบทวิภาคี และจะแสดงบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค อนุภูมิภาค ระหว่างภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองร่วมและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมในบริบทของโลกที่แตกแยกเป็นขั้ว

เน้นความเข้มแข็งในกรอบความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะความเป็นแกนกลางของอาเซียน และกรอบร่วมมือระดับภูมิภาค และอนุภูมิภาค เพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วมรูปแบบใหม่

อาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ มีประเทศคู่เจรจา 11-12 ประเทศ เป็นกลุ่มประเทศเดียวที่มีประเทศคู่เจรจามากกว่าประเทศสมาชิก ตรงนี้เป็นจุดแข็งของอาเซียน ที่ต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกัน บาลานซ์ผ่านความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค กรอบของโลก สังเกตว่าหลังจากที่มีภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น กลไกระดับโลกก็ค่อยๆลดความสำคัญลง เช่น ดับเบิลยูทีโอ (องค์การค้าโลก) ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว เพราะระดับทวิภาคหรือภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาบดบังมากขึ้น

ตรงนี้ไทยบาลานซ์บทบาท–ผลประโยชน์ให้ดี

“ผมชี้แจงกับประเทศต่างๆ อียู สหรัฐอเมริกา มิตรประเทศในตะวันออกกลาง จีน รัสเซียว่า ไทยวางตัวชัดเจนเป็นผู้นำบาลานซ์ผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกกลุ่ม

ต้องการมีบทบาทส่งเสริมความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ–สังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของมวลมนุษยชาติ ให้เราอยู่ร่วมกันได้

เป้าหมายที่เราพยายามเล่นมันไม่ง่าย ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกเยอะ โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งมีบทบาทที่จะเสริมให้ไทยแข็งแกร่งขึ้น”

ขณะเดียวกันไทยยังมีจุดแข็งด้านการเกษตรที่ต้องผลักดันให้มากขึ้น ให้กลับมามีบทบาทให้กับจีดีพีของประเทศ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของโลกในอนาคต

โดยเฉพาะในจังหวะที่ภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ไทยสามารถประกันความมั่นคงด้านอาหารให้ทั้งโลกได้ จุดนี้เป็นบทบาทที่ไม่มีใครเล่นได้ ผมเชื่อว่าไทยเล่นได้

นายกฯ และรัฐบาลก็มองเห็นความสำคัญ เป็นเป้าหมายหนึ่งต้องผลักดันพัฒนาธุรกิจการเกษตรอย่างจริงจัง เชื่อมั่นไทยเป็นผู้นำได้แน่นอน

อาเซียนเผชิญปัญหาภายในของเมียนมา อยู่ในวงแหวนของภูมิรัฐศาสตร์ 2 ประเทศมหาอำนาจ และยังมีปัญหาทะเลจีนใต้อีก เป็นปัญหาต่ออาเซียนอย่างไร นายมาริษ บอกว่า เมียนมามีปัญหามานาน แต่อาเซียนมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน เราต้องช่วยประคับประคองเพื่อไม่ให้ความร่วมมือขาดตอน พยายามเข้าใจประเทศสมาชิก

อาเซียนก็ควรสงวนท่าที เรายังมีเวทีพูดคุยจำนวนมาก ก็ค่อยๆปรับ ค่อยๆดึงให้ความร่วมมือในด้านการพัฒนาที่มีความสำคัญมากกว่าไปมุ่งเน้นปัญหาในแต่ละอนุภูมิภาค ปัญหาในแต่ละภูมิภาคต้องบาลานซ์ให้ดี

เชื่อมั่นว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจของอาเซียนพัฒนาไปพร้อมกัน ย่อมทำให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด อย่าไปมองแต่เฉพาะเรื่องการเมือง

ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชามีโอกาสจบในรัฐบาลชุดนี้แค่ไหน โดยเฉพาะถูกตั้งข้อสังเกตมีกลุ่มทุนพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ นายมาริษ บอกว่า ตอนนี้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาดีมาก เป็นเวลาเหมาะสมควรร่วมมือกัน รัฐบาลก็ต้องชี้แจงให้ทุกคนเห็นภาพ ไม่ใช่ไปทำอะไรเพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์

ปัญหาเขตแดนไม่มีใครยอมเสียอยู่แล้ว

จำเป็นต้องใช้เวลาชี้แจงสร้างความเข้าใจ

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเสียงตอบรับของประชาชน

ในที่สุดต้องบาลานซ์ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม