“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” เผยร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เข้าสภาฯ วาระ 3 เร็วสุดปีหน้า ฟุ้งตั้งเป้าสร้างเม็ดเงินใหม่ จุดละแสนล้าน โต้กลับฝ่ายค้านโครงการเรือธง 3 นายแค่วาทกรรม โวนายคือประชาชน ยันไม่เอื้อนายทุน

เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 13 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่า เมื่อสภาเห็นชอบ ก็ส่งเรื่องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกระทรวงการคลังจะดูในข้อกฎหมายและปรับให้เข้ากับระเบียบวิธีการให้เป็นกฎหมายที่ออกมาแล้วใช้ได้จริง เพราะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ติดขัดกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง จึงต้องปรับให้ใช้ได้จริง ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ โดยต้องประชุมอีก 1-2 ครั้งของส่วนราชการ หากผลทำประชาพิจารณ์มีประชาชนเห็นด้วยมาก ก็จะส่งเข้า ครม. เห็นชอบ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ ก่อนจะส่งเข้าสภาเพื่อพิจารณากฎหมายนี้ใน 3 วาระ คาดว่าเร็วสุดจะเป็นปีหน้า ทั้งนี้พร้อมรับฟังความคิดเห็นของรัฐสภาที่จะพิจารณากฎหมายนี้ว่า มีข้อดี ข้อด้อย อย่างไรเพื่อนำมาซึ่งการป้องกันผลกระทบต่อคนไทย

โดยโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หลักคิดคือ การสร้างเม็ดเงินใหม่ ดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาในประเทศ คาดว่า จุด 1 จะมีเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทเข้าประเทศ แต่ยังไม่รู้ว่า จะลงทุนกี่จุด ใครรับดำเนินการเพราะคณะกรรมาธิการในสภาและกระทรวงการคลังไม่มีหน้าที่ตัดสินใจ ว่าใคร จังหวัดไหน เหมาะสมที่จะสร้าง เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องมีความโปร่งใสทุกประการ จะเกิดการจ้างงานในช่วงต้น 2-3 ปีแรกไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นอัตรา จะสร้างเม็ดเงินรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวอีกประมาณ 30% สร้างเม็ดเงินให้ประเทศมหาศาล อยากเห็นฮอลล์คอนเสิร์ตขนาด 50,000 ที่นั่ง หรือ ดิสนีย์แลนด์เมืองไทย โดยไม่ละเลยความรอบคอบและผลกระทบเกี่ยวกับคาสิโน ที่ไม่เกิน 5% ตามหลักมาตรฐานของโลก ที่เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของการลงทุนให้ครบองค์ประกอบ

...

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงว่า นโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นเรือธงของ 3 นาย คือนายใหญ่ นายหน้า และนายทุน รัฐบาลจะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวยืนยันว่า อย่าเอาวาทกรรมนี้มาพูดเพราะไม่ค่อยเกิดประโยชน์ในการตอบโต้ เพราะนายของพวกเราทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านทุกคนคือ ประชาชน แน่นอนว่าแนวคิดในการที่จะพัฒนาประเทศอาจจะมีความแตกต่าง เรามองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะกระจายถึงพี่น้องประชาชนทุกคนให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่อาจมองถึงการเรื่องสร้างสวัสดิการ แต่การทำสวัสดิการถ้วนหน้ายังขาดความพร้อมเรื่องเม็ดเงิน ขนาดทำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตยังยากเลย เช่น สวัสดิการถ้วนหน้าเบี้ยผู้สูงอายุต้องใช้เงินปีละ 5 แสนล้านบาท นี่คือระบบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา สุดท้ายเมื่อมีการโหวตในสภา ผู้รวบรวมเสียงข้างมากได้ เราก็ต้องเอานโยบายของเรามาประยุกต์ใช้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสม ให้เกิดประโยชน์กับทุกคน จะมีช่องว่างให้ทำนโยบายอื่น ๆ ด้านสวัสดิการ ที่มีการศึกษาเรื่อง negative income tax แนวความคิดตัวนี้ คือการตอบโจทย์เรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะนโยบายนี้สุดท้ายจะเป็นตาข่ายรองรับให้กับประชาชนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม หากล้มลงในประเทศไทย รัฐบาลดูแลอยู่และจะสามารถลุกขึ้นยืนได้ หากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีกลไกสร้างภาษี จะเป็นเลขลบเอาภาษีคืนกลับไปให้ท่าน สิ่งที่เราศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าในระยะยาว นี่คือความใฝ่ฝันของพวกเราทุกคน ที่จะสร้างกลไกมีสวัสดิการให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเหมาะสม ยืนยันว่า ไม่เอื้อนายทุน