“พิชัย ชุณหวชิร” ชี้แจงวงประชุมรัฐสภา ในการแถลงนโยบายรัฐบาล กลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านคน เตรียมรับเงิน 10,000 บาท 25 ก.ย.นี้

เมื่อเวลา 17.42 น. วันที่ 12 กันยายน 2567 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในช่วงหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่ำ แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพที่ดี แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยศักยภาพจะยิ่งอ่อนด้อย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้น่าจะมีแนวความคิดใกล้เคียงกัน ซึ่งในมุมของตนนั้นถือว่าวิกฤติ การจะแก้ไขปัญหาเราต้องอยู่ในสภาพที่ฟื้นฟูก่อนแล้วค่อยสร้าง วันนี้รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจ เวลารอไม่ได้ เราต้องฟื้นฟูและเสริมสร้างขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กัน

นายพิชัย กล่าวต่อไปว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เรามีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อสร้างความเสมอภาคและโอกาสทางธุรกิจเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้แม้ไม่ง่ายแต่เมื่อมีหนี้ทุกคนหายใจไม่สะดวก เราจึงต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และต้องคำนึงถึงความพร้อมของระบบ คำนึงถึงเงินในกระเป๋า และความพร้อมของงบประมาณที่เราไม่ได้รับอนุมัติช้าหรือเร็ว เหล่านี้เป็นองค์ประกอบของการตัดสินใจว่าเราควรจะไปอย่างไร

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

...

“เราได้คิดแล้วว่าจะทำให้เร็วที่สุด แล้วก้อนแรกนี้น่าจะเป็นเงิน 10,000 บาทครบ ได้ดูรายชื่อแล้ว ณ วันนี้ได้ประมาณ 14.2 ล้านคน น่าจะประมาณ 140,000 กว่าล้าน แล้วก็อยากจะเรียนว่า เราได้เช็กแล้ว ณ วันนี้ 96% แล้ว ผมได้ทบทวนพร้อมกับทีมงาน เราน่าจะสามารถที่จะกดปุ่มเคาะระฆังให้เงินก้อนแรกไหลในวันที่ 25 (กันยายน) โดยประมาณ ดูอยู่น่าจะ 25-26 นี้ แต่น่าจะ 25 ได้”

ในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียน นายพิชัย ระบุต่อไปว่า เบื้องหลังจากดิจิทัลวอลเล็ตคือเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับประเทศ มีเรื่องประโยชน์อื่นๆ ซ่อนอยู่ด้วย นั่นเป็นสาระสำคัญ เราก็คงจะเดินต่อไป แต่การจะไปเฟสที่ 2 เราจะจ่ายอย่างไร นอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องความพร้อมของเงิน เนื่องจากเรามีงบประมาณที่จำกัด อยากให้ความสำคัญของงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงบกลาง ให้กับการปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อนแอของประเทศก่อน เพราะมองการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว และถ้ามีเงินเหลือเราก็จะเจียดเข้ามาสู่ตรงนี้ เราต้องมีความยืดหยุ่นของแผนได้ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา.