นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะถกแก้น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ ยัน รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ส่งความห่วงใย มอบทุกกระทรวงเร่งช่วยเหลือ-เยียวยาเร็วที่สุด เผย 13 ก.ย. ลงพื้นที่เอง สั่งไม่ต้องมาต้อนรับ ให้อยู่ช่วยประชาชนหน้างาน

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 12 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ที่อาคารรัฐสภา โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานตั้งแต่เช้าอัปเดตสถานการณ์กับทางรัฐมนตรีตลอด ซึ่งสถานการณ์ทั้งจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ตอนนี้ค่อนข้างหนักพอสมควร จึงอยากให้ทางข้าราชการที่เกี่ยวข้องรายงานให้ทราบซึ่งตอนนี้น้ำเข้ามาถึงอำเภอเมืองแล้ว และทราบว่าเข้ามาตรงสนามบินด้วย แต่รันเวย์ยังใช้ได้ จึงอยากจะสื่อสารให้ทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาหลังจากที่รอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อที่จะสั่งการได้ ซึ่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีทุกท่านได้ดำเนินการล่วงหน้าเพื่อเป็นการดูแลประชาชนไปก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาและทำให้ประชาชนออกจากปัญหาและอุปสรรคเร็วที่สุด

...

“ขออนุญาตส่งความห่วงใยไปให้พี่น้องภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ และแน่นอนเราจะต้องทำในเรื่องของระบบการเตือนภัยและการเยียวยารักษาต่อไป ซึ่งอยากให้ทางราชการเล่ารายละเอียดให้ฟัง เพื่อที่จะบอกแนวทางการดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ทางรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกกระทรวง ถ้ามีคำแนะนำอย่างไรขอให้เสนอได้เลย เพราะอันนี้เป็นวิชั่น (Vision) ที่เราต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ถึงพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด”

ทางด้าน ปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากจังหวัดเชียงราย ช่วงหนึ่งว่า อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบก รวมทั้งทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดเชียงรายปีนี้โดยเฉพาะ อำเภอแม่สาย สถานการณ์หนักหน่วงที่สุดในรอบ 80 ปี สาเหตุเนื่องจากในปีนี้อำเภอแม่สาย มีน้ำท่วมมา 7 ครั้งแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่น้ำท่วมหนักในรอบ 80 ปี ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก ฝนตกหนักมาเป็นระยะถึง 7 ครั้ง ทำให้ลำน้ำแม่สาย และพื้นแผ่นดินฝั่งประเทศไทยและฝั่งเพื่อนบ้านชุ่มน้ำ อิ่มน้ำ บวกกับพายุลูกล่าสุดทำให้กระแสน้ำมีจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้างของตลาดแม่สาย

ทั้งนี้ ด้วยความกรุณาของนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ระดมสรรพกำลังและลงพื้นที่มาอำนวยการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติร่วมกับผู้ว่าฯ และตนเอง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนก็มาช่วยกันเต็มที่ ถึงเวลานี้ที่อำเภอแม่สาย เรามีจุดพักพิงที่มีประชาชนอยู่รวมกันประมาณ 600 คนเศษ และสถานการณ์ต่างๆ ในตัวเทศบาลตำบลแม่สาย ที่เป็นเขตย่านเศรษฐกิจถึงเช้านี้น้ำลดลงไปในระดับที่อยู่ในภาวะที่เริ่มเข้าสู่สีเขียว และมวลน้ำจะทยอยไปท่วมในจุดที่เป็นสีเหลือง โดยวันที่ 12-13 กันยายน จะเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูดูแลพื้นที่เสียหาย

ในช่วงท้ายการประชุม นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการว่า ต้องเอ่ยถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ที่ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน ซึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่อาหารยังไปไม่ถึงพี่น้องประชาชน แต่วันนี้อาหารเหลือเฟือแล้ว ฉะนั้นพี่น้องประชาชนสามารถมีอาหารทานได้ 3 มื้อ รวมถึงน้ำด้วย ต้องขอบคุณข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่ส่งกำลังไปแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วมากๆ และแน่นอนรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำท่วมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการอพยพพี่น้องประชาชนให้ออกมาอยู่ที่พักพิงที่รัฐบาลจัดไว้ให้ หรือยารักษาโรคต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้ ก็พยายามจะเน้นในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ต่อจากนี้ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่ออย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อไปว่า ขออนุญาตแบ่งเป็นข้อให้เกิดความชัดเจนว่าหน่วยงานไหนดูเรื่องใด จึงขอสั่งการตรงนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุดตอนนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดูแลในเรื่องของการอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยงให้เกิดความปลอดภัย สนับสนุนเรื่องอาหาร เครื่องดื่มให้เพียงพอ และขออาหารของสัตว์เลี้ยงด้วย จะได้มีความปลอดภัยกันทั้งหมด ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโอกาสคุยกับ สส.เชียงราย ทราบว่าตอนนี้สาธารณสุขจัดเรื่องยาโรคน้ำกัดเท้าเพิ่ม ซึ่งทางพี่น้องประชาชนขอมาเพราะอยู่ในน้ำนานแล้ว ขึ้นไปอยู่บนหลังคา จึงทำให้มีอาการเท้าเปื่อยเยอะขึ้น ขอฝากทางสาธารณสุขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางต่างๆ ต้องช่วยกันขนย้ายผู้คนออกมาให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน ในส่วนกระทรวงกลาโหม ได้ขอทางกองทัพเรือ ฝากเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ อันนี้จำเป็นมากเรื่องการขนย้ายต่างๆ ส่วนเรื่องการกำหนดภารกิจช่วยเหลือประชาชน เช่น การดูแลการดำรงชีพ ตั้งศูนย์พักพิง ประกอบอาหาร ศูนย์การแพทย์สาธารณสุข อุปกรณ์เครื่องมือ แต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเรื่องของงบกลาง รัฐบาลได้ดันงบกลางที่จะเป็นส่วนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่ตอนเยียวยา แต่ ณ ตอนนี้ด้วย อยากให้ทุกฝ่ายเล็งเรื่องของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก รักษาชีวิตพี่น้องประชาชนโดยด่วนที่สุด และในเรื่องของงบกลางมีการกันไว้ นี่คือเหตุจำเป็นและเร่งด่วน นี่คือเรื่องของชีวิตพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ยังมีเรื่องของระบบเตือนภัย อย่างที่ทราบกันดีในหลายพื้นที่มีการพูดคุยกันและทราบว่าระบบเตือนภัยสามารถทำงานได้ เราได้รับคอมเมนต์ในเรื่องของพี่น้องประชาชนยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะบางทีเสียดายทรัพย์สิน เราก็เข้าใจ แต่ระบบเตือนภัยได้เตือนแล้ว อยากบอกพี่น้องประชาชนว่าขอรับตรงนี้ ให้ดูเรื่องการเยียวยาดูแลประชาชน ให้ตระหนักรักษาชีวิตตัวเองก่อน ออกมาจากพื้นที่ประสบภัยให้เร็วที่สุด ส่วนอย่างอื่นต้องดูว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยได้ในรูปแบบไหนบ้าง อันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยกันดูแลต่อไปในเรื่องความปลอดภัยพี่น้องประชาชนและทรัพย์สินที่สูญหายไประหว่างเกิดอุทกภัย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อน้ำลดแล้วทุกส่วนราชการขอให้ตรวจสอบในเรื่องความเสียหาย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่พี่น้องประชาชนได้ใช้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ระบบไฟฟ้า ประปา และสร้างความเข้าใจรับฟังปัญหาความต้องการและดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และขอมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ช่วยตรวจสอบและเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว

ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดดำเนินการที่เกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมการให้ทันเวลา อีกทั้งขอเพิ่มเติมให้มีการซักซ้อมให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่าเส้นทางไหนหรือที่พักพิงไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์พี่น้องประชาชนควรทำอย่างไร เพื่อให้ง่ายกับความเข้าใจของประชาชน และเนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ติดตามปริมาณของฝนที่เพิ่มสูงขึ้น วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์แนวโน้ม แจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา

ส่วนผู้ที่ประสงค์จะร่วมบริจาคให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุนและการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และจากนี้ขอมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ช่วยกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไปในแต่ละพื้นที่

“ส่วนวันที่ 13 กันยายน ดิฉันและคณะรัฐมนตรีบางท่านได้วางแผนลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ขอให้ผู้ดูแลไม่ว่าจะหน่วยทหารหรือปลัดที่อยู่ตรงนั้น ช่วยพิจารณาประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าเห็นอย่างไร เพราะตอนนี้เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีเป็นห่วงพี่น้องประชาชน แต่ที่แน่ๆ ไม่อยากให้ไปแล้วขัดต่อการดำเนินการช่วยเหลือใดๆ จริงๆ ย้ำชัดๆ ขออนุญาตให้ไม่ต้องมาต้อนรับ ขอให้เป็นเรื่องการนำเส้นทางนิดหน่อยพอ ไม่ต้องจัดอะไรใหญ่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เข้าใจอยู่แล้วว่าไม่สามารถจะมาต้อนรับอะไรทั้งสิ้น ขอให้ความช่วยเหลือระบบราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่หน้างานกับพี่น้องประชาชน ส่วนดิฉันและรัฐมนตรีจะประสานพื้นที่ ลงให้เร็วที่สุดเมื่อสามารถทำได้ และไม่ขัดต่อการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงหนึ่งของการประชุม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เดินไปรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกับนายกรัฐมนตรีหลังจากลงพื้นที่ไปด้วยตัวเอง โดยนายกรัฐมนตรีได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้และเดินมายืนพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว.