ระหว่างฟังการอภิปรายนโยบายรัฐบาล วันนี้ไปฟัง คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง พูดในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี ACMA Business Forum 2024 ของ สมาคม นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหัวข้อ Shaping Tomorrow : Exploring the Intersection of Aging Society, Economic Dynamics and Innovation เมื่อวันจันทร์ ท่านพูดถึงปัญหาประเทศไทยหลายประการที่น่าสนใจ และได้เปรยถึง “ค่าเงินบาท” กับ “การปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่อาจจะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทยในอนาคต ผมเลยถือโอกาสเก็บมาเล่าสู่กันฟังเท่าที่จดทันครับ

คุณพิชัย ได้ตั้งคำถามไว้น่าสนใจมากว่า “ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงเจริญเติบโตตํ่ากว่าศักยภาพ” ซึ่งเป็นความจริงที่เรารู้กันมานานแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้

คุณพิชัย กล่าวว่า ในอดีต ไทยเคยเป็นประเทศ emerging market โดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 1980–1985 สัดส่วนการลงทุนของไทยในช่วงนั้นสูงถึง 40% ของจีดีพี เศรษฐกิจมีการเติบโต 5–10% แต่วันนี้ สัดส่วนการลงทุนของไทยเหลือเพียง 19% อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโควิดเพียง 1.9% ทำไมไทยจึงเจริญเติบโตตํ่ากว่าศักยภาพ วันนี้เราดูแต่ปัจจัยพื้นฐานในด้านดี แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งก็จะเริ่มด้อยลง

ประเทศไทยวันนี้ มีทำเลที่ตั้งดี ทั้งการเดินทาง เส้นทางการบิน การเกษตรก็มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย อุณหภูมิร้อนแต่พอทนได้

แต่วันนี้ “ปัจจัยหลักเริ่มไม่ตอบสนองนักลงทุน” อุตสาหกรรมไทยเป็นระดับเทียร์ 2 เทียร์ 3 เราต้องลงทุนในอุตสาหกรรมที่โลกต้องการ แล้วดึงอุตสาหกรรมเทียร์ 2 เทียร์ 3 ตามมา เงินสำรองระหว่างประเทศของเราดี การส่งออกเยอะ จีดีพีก็มีขนาดพอสมควร แต่ที่ขาดคือการลงทุน ที่ผ่านมาเงินไหลออกนอกประเทศเยอะ แต่ไหลกลับเข้ามาก็เยอะ ถ้ามีการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง เงินจะไหลเข้ามาอีกอย่างน้อย 15 ปี เราเป็นประเทศส่งออก เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะดีกว่านี้ ควรจะเป็น 47 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติและมีการจัดการที่ดี

...

ก็เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินรัฐมนตรีคลังพูดว่า อยากให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็น 47 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการส่งออก เมื่อเอาดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาท คนไทยจะได้รวยขึ้น ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ (11 ก.ย.) ถ้าเป็น 47 บาทต่อดอลลาร์ ค่าเงินบาทต้องอ่อนลงไปจากปัจจุบันกว่า 38 เปอร์เซ็นต์

คุณพิชัย ได้พูดถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลว่า 1.แก้ปัญหาหนี้ ยืดหนี้ให้คนที่มีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย 2.ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งต้องมีกลไกทางภาษี อาจต้องบูรณาการภาษีทั้งระบบ Corporate Tax (ภาษีนิติบุคคล) ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม วันนี้สูงไปหน่อย (20%) VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเก็บทั้งคนรวยคนจน ต้อง Allocate (จัดสรร) รายได้ส่วนนี้ไปสู่คนจนที่มีรายได้น้อย (Negative Income Tax ที่นายกฯแถลงในนโยบายรัฐบาล)

เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณพิชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า

กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะบูรณาการการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ โดยเฉพาะภาษีเกี่ยวกับการบริโภค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ขณะที่ช่องว่างรายได้คนรวยและคนจนถ่างมากขึ้น เรื่องการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งคล้ายกับ หลายประเทศ ไทยได้ศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ฟังมาถึงตรงนี้ ผมขอเดาล่วงหน้าไว้เลย ใน 3 ปีของรัฐบาลเพื่อไทย คงได้เห็นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% แน่นอน แต่จะ ขึ้นถึง 10% หรือไม่ ผมไม่กล้าฟันธง

เพราะดูจากหนี้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปีจำนวนมาก ถ้าขึ้น VAT 1–2% รายได้คงไม่พอจ่ายแน่นอน ขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ถูกด่าอยู่แล้ว ขึ้นรวดเดียว 10% เลย ก็อาจเป็นไปได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม