มีเสียงวิจารณ์ว่าแม้จะมีปัญหาต่างๆ รุมเร้า ทั้งปัญหาการเมืองและปัญหาสังขาร แต่ พล.อ.ประวิตร “บิ๊กป้อม” วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็ยังแข็งแกร่งต้านอำนาจบารมี มีอิทธิฤทธิ์ที่อาจสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองได้ อย่างกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าใครอยู่เบื้องหลัง อดีต 40 สว.ที่โค่นนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
มีผู้ตั้งคำถามว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง “นักร้องการเมือง” มืออาชีพ ชื่อเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ร้องทุกอย่างที่ขวางหน้า ล่าสุด นายเรืองไกร ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ขัดมาตรฐานจริยธรรม กรณีที่ให้ ครม.ถ่ายรูปท่ามินิฮาร์ท ขณะที่สวมเครื่องแบบปกติขาว
คำร้องกล่าวหาว่าเป็นการกระทำต่อภาพลักษณ์เสื่อมเสียต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องหลุดจากตำแหน่ง ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปแต่ไม่ได้ระบุว่า ครม.ต้องหลุดทั้งคณะหรือไม่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร.เคยชี้แจงว่าการร้องเรียนต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัวของนายเรืองไกร ไม่เกี่ยวกับพรรค
เลขาธิการพรรค พปชร. ปฏิเสธว่า รายงานข่าวของสื่อรายการหนึ่ง ที่แฉว่ากระบวนการนิติสงครามเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับบิ๊กป้อม เป็นข่าวโคมลอยอย่างไร ก็ตามต้องยอมรับว่า พล.อ.ประวิตรมีอำนาจ แฝงในองค์กรอิสระ เนื่องจากเคยเป็นระดับผู้นำคณะรัฐประหาร คสช. และมีอำนาจในการแต่งตั้ง สว. และองค์กรอิสระ
พล.อ.ประวิตรเคยเป็นทั้งระดับผู้นำ ของคณะรัฐประหาร คสช. เคยเป็น ผบ.ทบ. ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยแซวว่าบิ๊กป้อมเคยไปยืนเกาะโต๊ะ ขอเป็น ผบ.ทบ. ส่วนทางการเมืองเคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี เหลือตำแหน่งเดียวที่ยังไม่เป็น คือ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้อง “ใช้ใจบันดาลแรง” คว้ามาครอง
...
ฝรั่งเรียกความต้องการอยากเป็น โน่นเป็นนี่ ว่า AMBITION หรือความทะเยอทะยาน เช่น นักการเมืองคนนี้มีความทะเยอทะยาน อยากเป็น สส. หรือเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนในภาษาไทยหมายถึงความอยาก ภาษาบาลีเรียกว่า “ตัณหา” อาจมีทั้งตัณหาการเมืองและตัณหาอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งเพราะต้องแย่งชิงกัน
การเมืองคือการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อใช้อำนาจแสวงประโยชน์อื่นๆ ถ้าเป็นการต่อสู้ตามกติกาประชาธิปไตย โดยสันติวิธี และเป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นคุณูปการต่อประเทศและประชาชน แต่จะต้องไม่ใช่ “นิติสงคราม” ที่ตีความกฎหมายมั่วใช้ตัณหานำหน้าก็คือนรกชัดๆ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม