ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำ ทันทีของรัฐบาล ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม อยู่ด้วย ทั้งๆที่เคยเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย ที่อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เคยสัญญาจะทำทันทีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แสดงว่าพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญอีกต่อไป ทำให้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ต้องออกมาทวงถาม

โฆษกพรรคประชาชนแถลงว่าจากโรดแม็ปของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ขณะนี้รอบแรก ยังไม่เกิดขึ้น คำนวณแล้วอาจไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อาจมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา คำตอบสุดท้ายที่พรรคประชาชนอยากได้จากรัฐบาล คือโรดแม็ปที่ชัดเจน จากวันนี้ ถึงวันมีรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดเวลาอย่างไร

แต่อาจจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน จากรัฐบาล เพราะไม่ได้บรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วน ก่อนการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยประกาศตนเป็นฝ่ายเสรีนิยม ควบคู่กับพรรคก้าวไกล แต่เมื่อต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลุงๆ และพรรคอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่”

แต่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ให้กำเนิดพรรคไทยรักไทย ไม่ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นอนุรักษ์นิยม แต่เป็น “พรรคปฏิรูป” พรรคเพื่อไทยเคยตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะต้องมีการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่าง แต่ถึงวันนี้ไม่

อาจเลือกแก้ไขเป็นรายมาตรา มีอยู่หลายมาตราที่ควรแก้ไข น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เสนอแนะให้แก้ปัญหาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ นิติสงคราม ที่มีการร้องกันอย่างเมามัน นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นทางการ แต่ถูกร้องแล้วกว่า 10คดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วยได้หรือไม่

...

เรื่องที่อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ในทางการเมือง จนอาจเกิดความสับสนอลหม่าน  คือการตีความหมายของ “จริยธรรม” แบบครอบจักรวาล แม้แต่การยุบพรรคก็ไม่มี กติกาที่ชัดเจน อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ใช้เสียงข้างน้อยของ สว.ชี้ขาด โดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างมาก ของ 500 สส. ที่มาจากประชาชน

 แม้แต่ที่มาของ 200 สว.แบบใหม่ ก็ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือการเลือกกันเอง ของกลุ่มอาชีพต่างๆที่เต็มไปด้วยความสับสน ผลของการเลือกกันเอง กลับได้มาซึ่ง สว.เสียงข้างมากแบบฟ้าถล่ม ที่คอการเมืองระบุว่าถูกครอบงำ ด้วยพรรคการเมืองบางพรรค นี่หรือคือจริยธรรมการเมืองที่ถูกต้อง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม