“นิวัติไชย” ชี้แจง กระแสข่าว มติ ป.ป.ช. ตั้ง “วิทยา อาคมพิทักษ์” นั่งทำหน้าที่ประธาน แค่เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ใหม่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 10 ก.ย. 2567 นาย นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยกับไทยรัฐถึงกระแสข่าว ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เลือกนายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เกษียณอายุเนื่องจากครบ 70 ปี ในวันที่ 9 ก.ย. 2567 ว่า เป็นการเลือกนายวิทยา ขึ้นมาทำหน้าที่แทนชั่วคราว ในระหว่างที่รอกรรมการสรรหาประธานกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งการลงมติครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 19 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ จนกว่าจะมีประธาน ป.ป.ช. คนใหม่

ทั้งนี้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดเรื่องคณะกรรมการสรรหา ไว้ดังนี้ คือต้องประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา

ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคล ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้ ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

...

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหา หรือกรรมการสรรหามีไม่ครบ ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ ให้กรรมการสรรหาอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือสรรหาเพิ่มเติม และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาแล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา