การเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลกหลังจากที่ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.และรองประธานสภาคนที่ 2 เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

เท่ากับพื้นที่นี้ “ก้าวไกล” เป็นเจ้าของเดิมแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น “ประชาชน” ก็ต้องเอาชนะให้ได้ มิฉะนั้น

เท่ากับขาดทุนย่อยยับ

ข้อสำคัญก็คือเพิ่งแพ้การเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ราชบุรีมาหมาดๆ ลงทุนลงแรงไปอย่างเต็มที่ หวังจะปักหมุดท้องถิ่นให้ได้

แม้คะแนนจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ค่อนข้างจะพิสูจน์ได้ว่าพรรค การเมืองแนวทางนี้ยากที่จะฝ่าด่าน “บ้านใหญ่” ไปได้

เพราะประชาชนยังเลือกคนท้องถิ่นที่มักคุ้นและใกล้ชิดมากกว่าแนวคิดทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่ใช้ “อุดมการณ์” ทางการเมืองมากกว่ารูปแบบเดิมๆ

รูปธรรมที่ชัดเจนคงไม่ใช่ที่ราชบุรีเท่านั้นหลายจังหวัดที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัครเต็มตัว แต่ก็รู้เป็นการภายในว่าให้การหนุนหลังอยู่

ดังนั้น การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจึงยังเป็นของ “บ้านใหญ่” อย่างเต็มตัว

แต่การเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลกครั้งนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติที่พรรคประชาชนมั่นใจว่าพวกเขาจะต้องชนะไม่มีพลาดท่าแน่

การเลือกตั้งครั้งนี้มองไกลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ด้วย

เป็นอนาคตทางการเมืองของพรรคด้วย!

เพราะความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกับระดับชาตินั้น ต่างก็ทราบกันดีว่าคนลงคะแนนมีความเห็นที่ต่างกัน

เอาเป็นว่าที่ผ่านมามีน้อยมากที่พรรคการเมืองระดับชาติจะให้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเว้นแต่จังหวัดไหนผู้สมัครที่ไปทางระดับชาติไม่ได้แล้ว

จึงหันมาลงสมัครระดับท้องถิ่น

...

หรืออีกด้านหนึ่งหากจะส่งคนลงสมัครก็เพื่อปูทางยกระดับจากท้องถิ่นขึ้นชั้นไปสู่ระดับชาติเนื่องจากมีเสียงสนับสนุนดีขึ้น

ก็เป็นอย่างนี้สำหรับการเลือกตั้งของไทย

การที่พรรคประชาชนโดยแนวคิดของบรรดาแกนนำพยายามที่จะปลุกเร้าให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคเขาทุกระดับ โดยชูประเด็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูป

ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นฐานเสียงให้พรรคในการเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง

หรือพรรคการเมืองอื่น...

หวังเอาชนะ “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะ “เพื่อไทย” คู่แข่งสำคัญที่เน้นเรื่องนี้เป็นหลัก

ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงเป็นสนามสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าพรรคประชาชนนั้นจะชนะได้หรือไม่

ถ้าชนะได้ก็ถือว่าอนาคตข้างหน้านี้ยังสดใส ประชาชนยังให้ความนิยม

แต่ถ้าแพ้ทฤษฎีอาจจะใช้ไม่ได้ก็มีความเป็นไปได้สูง อย่างที่ “เพื่อไทย” ประเมินว่าพวกเขาไม่ได้กลัวแต่อย่างใด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาเนื่องจากขัดข้องทางเทคนิคเท่านั้น

ประเด็นก็คือที่ “ก้าวไกล” ชนะนั้นก็แค่จังหวัดใหญ่ที่เจริญและมีคนรุ่นใหม่เทคะแนนให้ แต่พื้นที่อื่นๆไม่ใช่

ก็เป็นความท้าทายอีกมุมหนึ่ง!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม