พรุ่งนี้ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ผมคาดหวังไว้ล่วงหน้าว่า จะได้ยินนโยบายใหม่ๆจากนายกฯ คนรุ่นใหม่ เหมือนนายกฯใหม่สิงคโปร์ นายลอว์เรนซ์ หว่อง ที่ได้ประกาศนโยบาย “New Singapore Dream” (เป็นอีกบทความของผมที่ได้รับการแชร์ในโลกโซเชียลจำนวนมาก) อย่างชัดเจนว่า จะนำชาวสิงคโปร์ไปทางไหน ปีนี้จะทำอะไร ปีหน้าจะทำอะไร และชาวสิงคโปร์จะได้อะไร ไม่ใช่นโยบายขายฝันที่ต้องรอกัน 10 ปี 20 ปี แต่ก็ต้องผิดหวัง นายกฯแพทองธาร แถลงชัดเจนว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายเก่าของรัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมาคนไทยไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำแย่ลงกว่าเดิม ไม่ต่างจาก lost decade ในยุครัฐบาล คสช.

นโยบาย นายกฯ แพทองธาร มีความยาว 85 หน้า ระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง วันนี้ผมจะหยิบเรื่อง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง มาคุยกันนะครับ โดย นายกฯแพทองธาร ให้ความสำคัญเรื่องหนี้เป็นอันแรกในนโยบายรัฐบาล

นายกฯ แพทองธาร แถลงถึง ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่า กว่า 16 ล้านล้านบาท มากกว่า 90% ของจีดีพี ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบ ภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย และ ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น และไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน

แล้ว นายกฯแพทองธาร จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างไร ไปฟังดูครับ

รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะ กลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (moral hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับ การเพิ่มความรู้ทางการเงิน และ ส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

...

เป็นแนวคิดการแก้ปัญหาที่กว้างมาก แต่ไม่มีรายละเอียด ลำพังการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียว คงไม่ช่วยให้หนี้ลดลง ถ้าไม่ทำให้คนไทยมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย อย่างที่ระบุไว้ในนโยบาย คนไทยมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงเป็นหนี้กันมากมาย

นายกฯแพทองธาร พูดถึง “หนี้รัฐบาล” ในช่วงท้ายนโยบายด้วยว่า ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และถูกซ้ำเติมด้วยโควิด–19 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไร้ซึ่งมาตรการทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศใกล้เต็มเพดานที่ร้อยละ 70 ของ GDP ในปี 2570 จึงเป็นความท้าทายอันยิ่งยวดที่รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว โดยการ แสวงหาโอกาสใหม่ๆที่จะเพิ่มรายได้ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ การยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ

หนี้รัฐบาล หรือ หนี้สาธารณะ เดือน ก.ค.67 อยู่ที่ 11.64 ล้านล้าน บาท 64.66% ของจีดีพี เมื่อรวมกับ หนี้ครัวเรือนอีก 16 ล้านล้านบาท วันนี้ คนไทยมีหนี้รวมกันกว่า 27.64 ล้านล้านบาท 153% ของจีดีพี แต่ 7 เดือนแรกปีนี้รัฐบาลมีรายได้ 1.386 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า

เห็นยอดหนี้แล้วก็เป็นห่วงครับ ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ คนไทย 66 ล้านคน จึงจะหลุดพ้นจากกับดักหนี้มหาศาลก้อนนี้ได้ ผมฝาก พรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้าน ช่วยถามนายกฯในสภาด้วยนะครับ คนไทยในรัฐนาวานี้จะมีโอกาสได้เห็นฝั่งหรือไม่.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม