การแปรญัตติงบประมาณแผ่นดินของ สส.เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน กลายเป็นโศกนาฏกรรมการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 12 ปี เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานข่าวว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกข้าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ 12 ราย รวมทั้งอดีต สส.หญิงคนหนึ่งโดน 3 ปี 4 เดือน
ฐานกระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อปรับปรุงสนามฟุตซอลที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้การไม่ได้ แต่ศาลให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี คงเสียค่าปรับ 1 แสนบาท การสร้างสนามฟุตซอลด้วยงบประมาณที่ สส.ได้มาจากการแปรญัตติ กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศ มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่กระจายไปถึง 18 จังหวัด
ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 18 จังหวัด เป็นงบประมาณ ที่รัฐบาลต้องสูญเสียไปกว่า 4 พันล้านบาท แต่เป็นสนามฟุตซอลที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้การ ไม่ได้ เฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมาแห่งเดียว มีผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาตกเป็นจำเลย 89 คน เริ่มดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2555
ที่ต้องถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมการเมือง เนื่องจากบรรดา ผอ.และบุคลากรการศึกษาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ใดๆ ว่าตนจะต้องกลายเป็นจำเลยคดีทุจริต เพราะอยู่ๆก็มี สส.หรือตัวแทน สส.มาติดต่อเสนอจะจัดงบก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ บุคลากรด้านการศึกษาจึงยอมร่วมมือด้วยความยินดี แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นจำเลยในคดีทุจริตเสียแล้ว
การดำเนินคดีที่นครราชสีมา เป็นไปด้วยความเชื่องช้าเพราะมีจำเลยถึง 89 คน ศาลต้องทยอยไต่สวนทุกวันศุกร์ ผ่านมาแล้วสิบกว่าปีก็ยังไม่เสร็จ มีรายงานข่าวว่าในระยะแรก ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดวินัยร้ายแรง ถึงขั้นไล่ออกจากราชการ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ แต่เมื่อมีการอุทธรณ์ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต
จึงลดโทษจากการไล่ออกเป็นปลดออก จำเลยมีสิทธิได้รับบำนาญ คดีนี้นำไปสู่การแก้ไขหลักการของรัฐธรรมนูญที่สำคัญ เดิมที สส.ที่แปรญัตติเพื่อให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณด้วยตนเอง ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ถ้ามีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลเพียงแต่ทำให้การแปร ญัตติสิ้นผลไป ไม่เอาผิดผู้แปรญัตติ จึงไม่มีใครกลัว
...
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐ ธรรมนูญใหม่ จากฉบับ 2550 เป็น 2560 ฉบับปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มโทษ สส.ผู้แปร ญัตติ เพื่อหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน สส.ผู้นั้นจะต้องพ้นจาก สส. แม้แต่คณะรัฐมนตรีถ้ารู้เห็นว่ามีการทำผิด แต่ไม่ระงับยับยั้งต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ที่เรียกว่าโทษประหารการเมือง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม