รัฐบาลมีเสถียรภาพมาก ประเทศเข้มแข็ง

จุดสำคัญที่สุด นักลงทุนไทย-เทศเชื่อมั่น

เป็นมุมคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ บทบาทโดดเด่นในช่วงฟอร์ม “ครม.อิ๊งค์” นิกเนมว่า “บอย” นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มี สส.พรรคเล็กพรรคน้อยเทเสียงให้

และยังมีดีลดึง 21 สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เติมเสียงให้รัฐบาลอีก ถูกตั้งข้อสังเกต ว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) กำลังทำการเมืองเหมือนในยุคนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เบ่ง สส.ในพรรคให้เพิ่มถึง 377 เสียง จากจำนวน สส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร 500 คน

นายสรวงศ์ บอกว่า ไม่แน่ วันนี้ยังเหลือเวลาทำงานการเมืองอีก 3 ปี ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแน่นอน สมมติปีแรกนายกฯบริหารประเทศดี พรรคอื่นๆเห็นรัฐบาลมีผลงาน ขอมาร่วมทำงานด้วย พรรค พท.เปิดประตูต้อนรับตลอด

“เสียงในสภาสำคัญมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไทยถูกโจมตีเยอะ ประชาธิปัตย์ก็โดนเยอะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งมากว่า 20 ปี พี่น้องที่ออกมาต่อสู้ทั้งสองฝ่ายก็มีความสูญเสีย

ยืนยันตรงนี้อดีตเราไม่เคยลืม ถึงได้ย้ำตลอดที่เอาสองฝ่ายรวมกัน ทำให้ประชาชน ที่คิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ไม่ต้องมีม็อบออกมาต่อต้าน ไม่มีอะไรเสียหาย”

รอแสดงออกตอนเลือกตั้งใหญ่

นายกฯ ยังเคยยกตัวอย่างประเทศที่มีสงคราม ประชาชนแต่ละประเทศบาดเจ็บ

ล้มตายมหาศาล สุดท้ายถึงเวลาสงบศึก ร่วมค้าร่วมขาย ประเทศเหล่านี้ต้องเดินต่อ แต่ไม่ลืมอดีต

...

เดินตามนี้ประเทศไปได้ ประเทศต้องไปต่อ

รัฐบาลสามารถพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีได้

การเมืองชัดเจนขึ้นเหลือ 2 ขั้วใหญ่ระหว่างพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล โดยไม่มีลุงตามที่เคยรณรงค์หาเสียงเอาไว้ นายสรวงศ์ บอกว่า สส.500 คน ในสภาล้วนมีจุดยืนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า บ้านเมืองดีขึ้น ประชาชนอยู่ดีมีสุข แต่การทำงาน และจุดยืนบางมุมไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นการทำงานในสภาอาจมีความเห็นขัดแย้ง แย่งซีนอภิปราย แต่มั่นใจว่าการทำงานในอนาคตร่วมกับฝ่ายค้าน เราพยายามประนีประนอมให้งานในสภาราบรื่นที่สุด

ไม่มีลุงและดึง 21 สส.พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ขณะนี้เสถียรภาพรัฐบาลที่เข้มแข็งมีทั้งหมดกี่เสียง นายสรวงศ์ บอกว่า ยังไม่ได้นับจำนวนเสียงทั้งหมดแบบจริงจัง แต่ไม่ต่ำกว่า 300 เสียงแน่

ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เรียกว่าดูด ทั้งหมดเกิดจากรัฐบาลทำงาน เช่น ทำอย่างไรให้ผู้อาวุโสพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับพรรคเพื่อไทย ยังดีใจที่ผู้อาวุโสพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าอันไหนเห็นสมควรก็สนับสนุน การเมืองต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ค้านตะบี้ตะบัน

เมื่อรัฐบาลมีผลงาน ทุกพรรคอาจเข้าร่วม

โดยไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายค้าน และรัฐบาล

แต่ยุคพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ผลักดันนโยบายต่างๆได้รวดเร็ว แต่ยุคนี้เป็นรัฐบาลหลายพรรค บนสภาพเศรษฐกิจทรุด ผลักดันนโยบายต่างๆช้า

นายสรวงศ์ บอกว่า ถูกต้อง ผลักดันนโยบายช้าเป็นอุปสรรคแน่นอน ทั้งหมดอยู่ที่พูดคุยบนเป้าหมายทำให้ประเทศดีขึ้น

อาทิ พรรคภูมิใจไทย เสนอนโยบาย 6 ข้อ เห็นตรงกันพอสมควร แต่วิธีการอาจแตกต่างกันบ้าง ก็ต้องไปพูดคุยลงรายละเอียดในการทำบนเป้าหมายเดียวกัน

เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เป็นนโยบายเรือธงลำใหม่ของพรรคเพื่อไทย แต่พรรคภูมิใจไทยส่งสัญญาณคัดค้าน นายสรวงศ์ บอกว่า ดูดีๆไม่ได้ค้าน มั่นใจว่าฝ่ายค้าน ประชาชนก็อยากให้มี มันต้องเริ่ม ลองดูประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ

ตอนที่ประชุมคณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาการเปิดเอนเตอร์ เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ก็พูดคุยกันชัดว่า กาสิโนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ถึง 10% ยกตัวอย่าง เซ็นโตซ่าในสิงคโปร์ บางคนไปดูอควาเรียม ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีกาสิโนในนั้น

ฉะนั้นกาสิโนถูกกฎหมายกับเอนเตอร์ เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เป็นวิธีดึงนักลงทุนรายใหญ่ระดับแสนล้านบาท ต้องมีตัวนี้ดึงดูดให้มาลงทุน

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาล และสังคมว่า เป็นการดึงดูดนักลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ยังต้องปราบการพนันผิดกฎหมาย การพนันออนไลน์

ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นอะไรที่ไม่สมควร ในพรรคเพื่อไทยก็เคยระเบิดออกมา มันจบในพรรค เช่น ปุ๋ยคนละครึ่ง พอฟังเสียงสะท้อนของ สส.ที่ลงพื้นที่คุยกับเกษตรกรกลับมาบอก ฝ่ายบริหารก็ยกเลิก ไม่ตะบี้ตะบันทำ

รัฐบาลรับฟังประชาชน ปัญหาทุกอย่างก็แก้ได้ง่าย

เพื่อน สส.ฝ่ายค้านเสนออะไรมาก็รับฟัง และนำมาปรับให้เข้ากับนโยบายรัฐบาล พอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เริ่มบริหารประเทศ นโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ต ก็ปรับได้หมดตามเสียงสะท้อนของชาวบ้าน แจกเป็นเงินสดให้กลุ่มเปราะบางก่อน

3 ปี รัฐบาลนี้ยึดหลักปรับเปลี่ยนนโยบายตามเสียงสะท้อนของสังคม อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ปรับตามสถานการณ์ และสิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ วางรากฐานเอาไว้ นายกฯอิ๊งค์เข้ามาสานต่อ ต่อยอดทันที

เศรษฐกิจก็หนัก การเมืองก็หนัก โดยเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม นายสรวงศ์ บอกว่า นายกฯถึงมีคนหลายรุ่นจัดการในแต่ละอย่าง โดยข้อกำหนดของบ้านเมืองมีผู้ใหญ่อย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแล

ส่วนเศรษฐกิจ อาทิ มีผม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็ต้องมุ่งหน้าด้านนี้ แยกกันชัดเจน โดยมีนายกฯสั่งการลงมา มีความคิดอย่างนี้เสนอขึ้นไป นายกฯก็เห็นด้วย นำไปสู่การ ปฏิบัติ ทั้งนี้เชื่อว่าสถานการณ์หนักแน่นอน แต่มั่นใจภายใต้การนำของนายกฯไปได้

รัฐบาลใหม่เข้ามาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในจังหวะงบประมาณปี 68 กำลังระเบิดใช้พอดี และโยกย้ายใหญ่ประจำปี เป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกความเชื่อมั่นประชาชน และนักลงทุนอย่างไร นายสรวงศ์ บอกว่า ตั้งแต่โหวตเลือกนายกฯ ให้ดูตลาดหุ้นไทยขึ้นตลอด มีลงบางวัน แสดงว่านักลงทุนทยอยเข้ามา

เป็นสัญญาณรับประกันทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น

จังหวะที่นายทักษิณ ชินวัตร หลุดบ่วงการเมือง เริ่มแสดงบทบาทที่ปรึกษา มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไร นายสรวงศ์ บอกว่า เป็นอีกหนึ่งความเชื่อมั่น เพราะนำประสบการณ์ 17 ปี ที่อยู่ต่างประเทศมาช่วยบ้านเมือง แต่มีคนนำไปโยงว่าครอบงำ อยากให้นิยามคำว่าครอบงำต้องมีกรอบชัดเจน

ประกอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่คิดว่านายเศรษฐาเจออย่างนี้ ทุกอย่างเหมือนถูกกำหนดมาแบบนี้ พอลูกสาวได้เป็นนายกฯ แน่นอนดีใจ และคงกังวลแน่นอนกับระบบอะไรต่างๆของไทย ทั้งหมดทั้งมวลยังเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ เพราะถึงยุคหนึ่งผู้นำต้องเป็นคนรุ่นนี้ วัยวุฒิ คุณวุฒิพร้อมสรรพ

“ในทางการเมืองผมรับประกันได้ พูดได้เต็มปาก เพราะไม่ต่างกับนายกฯเท่าไหร่ ที่โตมาในครอบครัวนักการเมือง ผมก็ถูกปรามาส ได้รับตำแหน่งเลขาฯ เพราะเป็นลูกเสนาะ (เทียนทอง)

ผมเป็นลูกเสนาะจริงๆ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ทั้งหมดต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน ผมโชคดีพอถึงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ หน้าสิ่วหน้าขวานก็มีบทบาทพอสมควร”

แต่นายกฯ ยังไม่บริหารประเทศโดนไป 9 คดีแล้ว

ขอเวลาบริหารประเทศ ถ้ามีทุจริตก็ไปฟ้องได้เลย

ฉะนั้นขอโอกาสให้นายกฯได้พิสูจน์ตัวเองก่อน.

ทีมการเมือง

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่