“โสภณ ซารัมย์” ปธ.กมธ.การศึกษา ลั่น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องปฏิวัติการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ทันยุค พลิกโฉมการศึกษาไทย
วันที่ 8 กันยายน 2567 นายโสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส.จังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย กรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ ประชุมสรุปร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ณ วังยาวริเวอร์ไซด์รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
นายโสภณ กล่าวว่า เป็นการยกร่าง พ.ร.บ. ที่ต้องตอบโจทย์อนาคตของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียน การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงของประชากร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงต้องปฏิวัติการศึกษา เท่าเทียม ทั่วถึง ทันยุค เพื่อพลิกโฉมการศึกษาไทย
คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเสวนาการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยลงพื้นที่ทุกภาคของประเทศ และนำข้อมูลมาวิพากษ์ นับ 10,000 คนทั่วประเทศ ร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ คณะกรรมาธิการ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้นำองค์กรต่าง ๆ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2567 ได้นำข้อมูลจากการวิพากษ์ที่ผ่านมาหลายครั้ง นำมาหาข้อสรุปทบทวนในแต่ละประเด็น มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
...
1. ระบบการศึกษา ได้ปรับปรุงให้เป็น 2 ระบบ ได้แก่ ในระบบ กับการศึกษาตามอัธยาศัย และได้เน้นให้เกิดความชัดเจน ทั่วถึง มีคุณภาพ
2. การถ่ายโอนภารกิจในการจัดการศึกษา ระดับปฐมวัยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. การจัดตั้งกลุ่มโรงเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร ได้แก่ บุคลากร และวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ สถานที่ ให้ใช้ร่วมกันให้เกิดความคุ้มค่าและมีคุณภาพ
4. หลักสูตร ได้กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลาง ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา
5. ปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหาร และภาระงานที่ซ้ำซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา ทางคณะกรรมาธิการได้รับฟังจากหลายภาคส่วน และได้ปรับโครงสร้างดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น
6. การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันของสถานศึกษา กับสถานประกอบการ หรือสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียนได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนรู้เพื่อเกิดทักษะในการทำงาน ค้นพบตนเอง ผู้จัดการศึกษา มีใบรับรองผลการศึกษาตามความเหมาะสม
นายโสภณ ระบุในช่วงท้ายว่า ร่าง พ.ร.บ.ชุดนี้ เป็นความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง ใช้เวลา 1 ปี ถือว่าเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทย.