เห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว อาจวิจารณ์ได้ว่าเป็นการเมืองแบบสืบทอดอำนาจในครอบครัว พ่อไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ยกให้บุตรสาวหัวแก้วหัวแหวน แม้จะไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง สส. หรือผู้เป็นพ่อกลัวจะสอบไม่ผ่านเรื่องจริยธรรม ก็ยกตำแหน่ง รมช.มหาดไทยให้บุตรสาว ซึ่งไม่ทราบว่าเคยมีประสบการณ์การเมืองหรือไม่

แต่ทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลใหม่จึงจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายน และเริ่มบริหารประเทศ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 14 เป็นต้นไป แต่นักวิเคราะห์การเมืองบางคนมองว่า มีคนตัดหน้าชิงแถลงนโยบายไปก่อนแล้ว นั่นก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ประกาศตัวเป็น “ผู้ปกครอง” นายกรัฐมนตรี

แต่มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ “บางกอกโพสต์” วิจารณ์ว่าแม้นายทักษิณจะเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์อย่างมหาศาล แต่แสดงวิสัยทัศน์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาโครงสร้าง ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการกระตุ้น เศรษฐกิจแบบเดิมๆ จะต้องมีคนที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจจึงจะแก้ได้

พูดถึงนโยบาย เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงอาจขัดแย้งกันได้ พรรคเพื่อไทยต้องยืนหยัดนโยบาย “แจกเงิน” ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือจะเรียก ว่าเงินหมื่นก็ตามใจ ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็ต้องยืนยัน เดินหน้านโยบาย “กัญชา” ซึ่งต้องขัดคอพรรคเพื่อไทย ที่ยืนกรานว่ามีคนถึง 80% ที่คัดค้านนโยบายกัญชาเสรี

ที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่ง คือคำอภิปรายในสภา ของนายณัฐชา บุญไชย อินสวัสดิ์ จากพรรคประชาชน ที่ว่านโยบายแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” อาจถูกลอยแพ เพราะ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และไม่ได้อยู่พรรค พปชร.แล้ว แต่ยังมีงบสร้างศูนย์พันธุ์สัตว์กว๊านพะเยา

...

อีกพรรคหนึ่งซึ่งอาจมีปัญหานโยบาย คือพรรครวมไทยสร้างชาติ โฆษกพรรคประกาศว่าจะคัดค้านการแก้ไข ป.อาญา ม.112 และรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ พรรค รทสช.เป็นพรรคเล็กมี สส.ไม่ถึง 40 คน จากทั้งหมด 500 คน จะเอาเสียงจากที่ไหนมาคัดง้างกับเสียงข้างมากในสองสภา

ถ้ามองย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ ฉบับสำคัญ 3 ฉบับ คือ ฉบับ 2517 ที่ได้จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ฉบับ 2540 ที่มาจากประชาชน และฉบับปัจจุบัน 2560 ล้วนแต่มีการแก้ไขหมวด 1 กับหมวด 2 ทั้งสิ้น เพราะไม่มีที่ไหนในโลกประชาธิปไตย ที่ห้ามแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้เป็นไปตามสถานการณ์โลกตลอดกาล.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม