“สรวงศ์” รับ ท่องเที่ยวงานท้าทาย รายได้หลักของประเทศ พยายามให้ดีที่สุด สานต่อฟรีวีซ่า ด้าน “ชูศักดิ์” คาดได้รับผิดชอบงานกฎหมาย ไม่ห่วงคดี “นายกฯ อิ๊งค์” ชี้ ศึกษาบทเรียนในอดีต

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ว่า มีความตื่นเต้นอย่างมาก ขณะที่นโยบายการทำงานของรัฐบาลจะแบ่งสัดส่วนอย่างไรนั้น ต้องถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศ งานหนักพอสมควร มีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบ และทำงานร่วมกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเสริมทัพงานซอฟต์พาวเวอร์ของนายกรัฐมนตรีให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งพยายามทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่าการเข้ามารับตำแหน่งนี้ถือว่าได้รับโอกาสและมีความท้าทายหรือไม่ นายสรวงศ์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว อีกทั้งเคยเป็นนักกีฬา ส่วนการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในอนาคตจะต้องวางแผนเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬาให้สอดคล้องกัน รวมถึงแผนงานต่างๆ ที่จะไปเสริมนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และด้านอื่นๆ

...

ผู้สื่อข่าวถามต่อ รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสรวงศ์ เผยว่า รู้พร้อมสื่อมวลชน ตนก็ติดตามข่าวโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ทราบเป็นการส่วนตัว ถือว่านายกรัฐมนตรีให้เกียรติที่แต่งตั้งและมอบหมายงานที่สำคัญ และตนมีความถนัด ส่วนคำถาม อะไรที่ทำให้คิดว่านายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกให้มาทำหน้าที่นี้ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ต้องถามนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของตนท่านคงเห็นถึงการทุ่มเทในการทำงาน และเห็นว่างานนี้มีความสำคัญจึงมอบหมายให้ ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ฝากงานอะไรเป็นพิเศษ

ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวงก่อน นายสรวงศ์ มาดำรงตำแหน่งจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ตอบว่า ก็คงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน เมื่อถามถึงนโยบายควิกวิน (Quick Win) ที่เตรียมไว้มีอะไรบ้าง เพราะอีกไม่กี่เดือนจะเข้าช่วงไฮซีซั่นแล้ว นายสรวงศ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เรื่องนโยบายท่องเที่ยว นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปูพื้นฐานไว้ดีพอสมควร จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ขณะที่การสานต่อฟรีวีซ่าในประเทศสำคัญ และฟรีวีซ่าเชงเก้นที่ นายเศรษฐา เจรจาไว้ ก็ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ให้คนไทยเที่ยวกันเองมากที่สุด เพราะจะส่งผลกับเศรษฐกิจฐานราก ร้านค้าเล็กๆ จะได้ผลประโยชน์จำนวนมาก ตนจะทำให้ดีที่สุด

ทางด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายว่าให้ดูแลหน่วยงานใด และนายกรัฐมนตรีน่าจะมอบหมายให้ดูเรื่องกฎหมายที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภา ส่วนจะได้ดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมาย แต่ตนคิดว่างานสำคัญคือเรื่องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการนำเสนอ เช่น กฎหมายซอฟต์พาวเวอร์

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการตีกรอบเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีความชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์ ระบุว่า หลักการของเราคือให้สภาร่างรัฐธรรมนูญร่าง (สสร.) เป็นผู้ดำเนินการ การแก้ไขอะไรยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดตอนนี้ ส่วนสภาจะเสนอแก้อะไรก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้

“มาตรฐานเรื่องจริยธรรม ผมเคยบอกว่าปัญหาคือความไม่ชัดเจน และเกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งเป็นปัญหาของการเขียนรัฐธรรมนูญ และที่วิตกว่าหากตีความกันอย่างกว้างขวางอาจจะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปไม่ได้ เช่น มีคนเคยถูกใบสั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาถูกรื้อฟื้นว่าฝ่าฝืนกฎจราจรจะเป็นความผิดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ มันก็ยากแก่การชี้วัด ผมมองว่าเรื่องนี้ต้องทำอย่างไรให้เป็นมาตรฐาน ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเขียนกฎหมาย ในอนาคตก็ให้เขาไปว่ากันเรื่องการแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งหากมีการตั้ง สสร. ก็ต้องให้เขาไปคิด”

หากดูประวัติรัฐมนตรีชุดนี้มีใครที่น่าเสียวไส้เรื่องจริยธรรมอีกหรือไม่ นายชูศักดิ์ ตอบว่า ก็ผ่านมาหมดแล้ว ไม่น่ามีปัญหา เมื่อถามอีกว่าเป็นห่วงหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีถูกยื่นตรวจสอบหลายคดี นายชูศักดิ์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีระมัดระวังเรื่องนี้มาก เพราะทราบปัญหาของสังคมไทย มีทีมคณะทำงานเตรียมการเรื่องพวกนี้ไว้ทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมและกฎหมาย อีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็เห็นประสบการณ์แล้วในอดีตที่มีการร้องกันไปมา

ทางด้านคำถามว่ามีประเด็นใดที่นายกรัฐมนตรีสุ่มเสี่ยงเรื่องจริยธรรมหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรเพราะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนประเด็นกฎหมายที่มาร้องทีหลังท่านก็เตรียมการแก้ไขไว้หมดแล้ว เช่น เรื่องหุ้นจะทำอย่างไร เพราะมีบรรทัดฐานและคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ส่วนประเด็นครอบงำก็ชัดเจนว่าไม่ใช่ เพราะเป็นแค่การให้คำปรึกษา เป็นเสรีภาพที่ทำได้ ตนขอยืนยันในฐานะที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่าไม่ได้มีการครอบงำ และจะไม่ยอมให้ใครมาสั่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าหาก นายชูศักดิ์ มาดูเรื่องกฎหมายจะเป็นการปิดตำนาน นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องกฎหมายหรือไม่ นายชูศักดิ์ ตอบกลับสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ.