“ภูมิธรรม” นำประชุม กพช. มีมติต่ออายุมาตรการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ปี เตรียมเสนอเข้า ครม. 17 ก.ย.นี้
เมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 4 กันยายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี ภายหลังที่มาตรการนี้จะหมดอายุในวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายนนี้
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันภาระในการชดเชยพืชพลังงานที่เป็นส่วนผสมของน้ำมันมีสูงมากขึ้นจากราคาพืชที่มีราคาสูง ทั้งในส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันเบนซิน ที่มีส่วนผสมของปาล์มน้ำมันและอ้อย โดยในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนออกมาตอนแรกนั้นราคาของพืชเหล่านี้ราคาต่ำ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันนี้พืชมีราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนในการชดเชยราคาพืชที่นำมาผสมในน้ำมันชดเชยของภาครัฐนั้นสูงขึ้นด้วย จึงต้องมีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง
ที่ประชุม กพช. จึงได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันไปเป็นเจ้าภาพในการหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้ในการประชุม ครม. ในวันที่ 17 กันยายนนี้ จะต้องมีเรื่องที่เป็นข้อเสนอและข้อสังเกตให้ครบทุกด้านว่าจะทำอย่างไร เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าเรื่องนี้จะมีความยืดเยื้อและจะวนกลับมาแบบนี้ตลอดไปซ้ำซาก เราอยากทำให้เรื่องนี้มีข้อยุติ ต้องไปดูว่าในเรื่องนี้จะหาทางออกอย่างไร
...
นายภูมิธรรม กล่าวต่อไปว่า ระหว่างนี้รัฐบาลจะต้องพิจารณาหาทางออกให้ชัดเจนมากขึ้นว่าควรอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ เกิดความสมดุล และเหมาะสม เพราะเวลานี้หากอุดหนุนจัดการไม่ดี ไม่สมดุล จะเกิดปัญหาตามมาทางผู้ผลิตพืชผู้ใช้ และโลกที่มองอยู่ต้องการใช้น้ำมันที่มีเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่มากขึ้น เหล่านี้จำเป็นจะต้องเอามาพิจารณา แต่การพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุลและพิจารณาหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ ในเรื่องของน้ำมันต่างๆ ก็จะได้มีทางออก ถ้าเอาของไว้ใช้อย่างเดิมจะดูแลต่ออย่างไร ถ้าไม่ได้จะมีโอกาสขายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ในด้านใดซึ่งก็ต้องมีการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ใช้น้ำมัน กระทรวงคมนาคมก็ต้องดูว่าต้องใช้อะไรให้ตามกฎหมายโลกในสิ่งที่รักษาโลกมากขึ้น ถ้าต้องใช้แบบนี้ต้องมีทางออกอย่างไร หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน หวังว่าประชาชนจะได้ใช้น้ำมันที่ดีตามที่โลกต้องการและใช้ได้ในราคาถูก ผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องด้านชีวภาพก็ต้องมีทางออกในการจัดการต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องสนับสนุนตลอด ก็จะเกิดปัญหา.