นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ประกาศว่ารัฐบาลพร้อมแล้วที่จะเหยียบคันเร่ง เพื่อให้ผลงานออกมาโดยเร็วที่สุด จึงขอให้ สส.ที่เห็นว่าอะไรที่ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยเร็วขอให้เสนอมา ไม่ทราบว่ามี สส.คนใดเสนออะไรบ้างหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความกังวลปัญหาการเมือง

นายชูศักดิ์กังวลว่าผู้ที่ถูกเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี อย่างน้อย 11 คน ยังถูกร้องค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. หรือศาลการเมืองไทยเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นเรื่องจริยธรรม จะเป็นเรื่องที่ร้องไม่จบ ท้ายที่สุดก็คิดห้าม ตรงกับความเห็นของ น.ส.นันทนา นันทวโร ภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การแต่งตั้งรัฐมนตรี ถูกตรวจสอบเข้มข้น

ตรวจสอบรัฐมนตรีคนเดียว แต่นายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้งอาจหลุดจากตำแหน่ง เพราะองค์กรอิสระมีอำนาจล้นเกิน มีอำนาจถอดถอนรัฐบาล และยุบพรรคการเมืองได้ ต้องแก้ไขด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยากแสนสาหัส เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจรัฐประหารไม่ธรรมดา

การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ทำกันอย่างง่ายๆตรงไปตรงมา เพราะคณะผู้ร่างกำหนดกติกาการแก้ไขให้ยากที่สุด หรือแก้ไขไม่ได้เลย เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ นับแต่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน กว่า 7 ปีมาแล้ว มีรัฐบาลมาหลายคณะ แต่ไม่มีใครแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ แก้ได้เรื่องเดียวคือบัตรเลือกตั้ง

สาเหตุที่แก้ไขยาก เพราะกติการะบุว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 สว.ชุดก่อนมี 250 คน ต้องเห็นชอบอย่างน้อย 87 เสียง สว.ปัจจุบัน 200 คน ต้องเห็นชอบการแก้ไข อย่างน้อย 67 เสียง ถึงแม้ สว.ทั้งสองคณะจะมีที่มาต่างกัน ชุดก่อนมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ชุดปัจจุบันเลือกกันเอง

...

วุฒิสมาชิกทั้งสองชุดต่างไม่ได้มาจากเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่การออกเสียงในสภาไม่ต่างกัน เพราะเป็นที่รู้กันว่าเสียงข้างมากของ สว.ปัจจุบัน คือ “สีฟ้า” ตัวอย่างที่ชัดเจนสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สว.นันทนาเสนอญัตติให้ตรวจสอบจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง แต่เสียงข้างมากไม่เอาด้วย บางคนอ้างว่าอย่าไปยุ่งเรื่องคนนอก

จึงเชื่อว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ น่าเป็นห่วงว่าจะไม่มี สว.เห็นชอบถึง 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ร่างแก้ไขก็จะต้องตกไป ก่อให้เกิดความสิ้นหวังในการเมืองไทย อนาคตของประเทศไทยอาจต้องจมปลักอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมอย่างไม่จบสิ้น เพราะแม้แต่ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยแท้ๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม