“จุลพันธ์” รองประธาน กมธ.งบประมาณ 2568 แจงงบซื้อเครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์ของ สลน. มีความจำเป็นตามภาระหน้าที่ ชี้ กอ.รมน. ยังมีความจำเป็น หลังสมาชิกอภิปรายงานซ้ำซ้อน


วันที่ 3 กันยายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากสมาชิกผู้แปรญัตติ ในประเด็นความจำเป็นในการซื้อเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานและหน้าที่ภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ค่าใช้จ่ายผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และโครงการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ดังนี้

ประเด็นแรก เกี่ยวกับความจำเป็นในการซื้อเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของ สลน. ทางคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นตามภาระหน้าที่ของ สลน. ที่ต้องอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ถวายการดูแลอารักขาแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงองคมนตรี รัฐมนตรี พระราชอาคันตุกะ และประสานงานช่วยเหลือประชาชนตามมอบหมาย เช่น ช่วยเหลือประชาชนตามมนุษยธรรม ประสบภัยพิบัติ เป็นต้น โดยมอบให้กองทัพอากาศเป็นผู้จัดหาเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเครื่องบินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นรุ่น Airbus A340-500 เป็นเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ปี 2548 ก่อนที่กองทัพอากาศจะจัดซื้อต่อจากบริษัท การบินไทย ในปี 2559 และบริษัท Airbus ก็เลิกผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ไปแล้ว ทำให้ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง

...

ประเด็นที่สอง คือหน้าที่ภารกิจของ กอ.รมน. ที่สมาชิกมีการแสดงความเป็นห่วงของความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน และขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร เบื้องต้นตั้งแต่ปี 2562 มีการทบทวนบทบาทความซ้ำซ้อนหน้าที่ของ กอ.รมน. มีผลสรุปว่าเป็นหน่วยงานประสาน อำนวยการ ปฏิบัติในด้านความมั่นคงกับทุกส่วนราชการ เป็นปกติของรัฐบาลทั่วโลกที่มีหน่วยงานรับผิดชอบประสานงานเรื่องความมั่นคง เป็นคนละส่วนกับสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ดำเนินงานด้านนโยบายเสนอต่อสภาและรัฐบาล โดยบูรณาการ อำนวย ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง รวมถึงงานจำเพาะบางที่ กอ.รมน. มีหน้าที่อำนวยการ และปฏิบัติงานโดยตรง เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ อุทกภัยทางภาคเหนือ ซึ่ง กอ.รมน. เป็นส่วนสำคัญที่เข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมถึงหน้าที่ส่งเสริมการปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ ที่สอดคล้องกับความมั่นคงและสันติของประเทศชาติ

ประเด็นที่สาม นายจุลพันธ์ ชี้แจงต่อคำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ว่า งบประมาณส่วนนี้มีจุดประสงค์เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ การช่วยเหลือคนไทยที่เป็นผู้ประสบภัยพิบัติและเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างแดน เป็นต้น โดยในปี 2567 มีการจัดตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ 7,800,000 บาทถ้วน เช่นเดียวกันกับปี 2568 แต่ภารกิจขยายขอบเขตขึ้น

สำหรับประเด็นสุดท้าย โครงการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ที่ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2566 มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร สลน. จึงมีการส่งเรื่องร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดิน และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินเป็นผู้ดูแล และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ จะนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาพิจารณาในปีงบประมาณ 2568 จึงต้องบรรจุงบประมาณส่วนนี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย นายจุลพันธ์ ได้กล่าวยืนยันด้วยว่า คณะกรรมาธิการได้ดูรายละเอียดของมาตรา 7 งบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างถี่ถ้วน และได้ตัดลดในส่วนที่เกิน และเพิ่มในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ กรรมาธิการเสียงข้างมากจึงขอยืนยันในมติที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร.