“วราวุธ” พร้อมด้วย สส.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ตรวจสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เชื่อ น้ำไม่มากเท่าปี 54 ฝากกรมชลประทาน คุมระดับน้ำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน
วันที่ 2 กันยายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สุพรรณบุรี เขต 2 นายสรชัด สุจิตต์ สส.สุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยมี นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และนายวิชัย ผันประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 เป็นผู้รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การคาดการณ์ฝนที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงระยะเวลาสัปดาห์นี้
นายวราวุธ กล่าวว่า สส.สุพรรณบุรี มีความเป็นห่วงในสถานการณ์น้ำจึงได้เดินทางมาดูที่เขื่อนเจ้าพระยา และได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโครงการ และเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมประตูน้ำแต่ละบานของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจากการรายงานพบว่า ปี 2567 สถานการณ์ภาพรวมน่าจะอยู่ในพื้นที่ที่คุมได้ อาจจะมีน้ำท่วมเล็กน้อยแต่ไม่ถึงปี 2554 อย่างแน่นอน โดย นายณัฐวุฒิ สส.สุพรรณบุรี เขต 2 มีความเป็นห่วงมากเนื่องจากพื้นที่อยู่ปลายน้ำ ที่ อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง คือการจัดการบริหารน้ำในพื้นที่ที่ต่ำลงไป เพราะพื้นที่ทุ่งรับน้ำของประเทศไทยนับวันยิ่งจะลดลง เช่น ทุ่งพระยาบันลือ และทุ่งพระพิมล ที่เคยเป็นทุ่งรับน้ำสำคัญ ผ่านมาเกือบ 20 ปี ทั้ง 2 พื้นที่พัฒนากลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ทั้ง 2 ไม่สามารถรับน้ำได้เหมือนเมื่อก่อน สวนทางกับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่าและน้ำทุ่งเมื่อมีพายุเข้ามา
...
ดังนั้น จึงเป็นการบ้านฝากให้ทางกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ให้มีการกระจายน้ำและการหน่วงน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรได้ และทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เพราะถึงแม้ว่าจะท่วมแต่ก็ท่วมในปริมาณที่ไม่มาก หรือหากมีน้ำท่วมก็ให้สามารถระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือปากอ่าวให้ได้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงห้วงเวลาของน้ำทะเลหนุนด้วย โดยเฉพาะช่วงหนุนที่พีคที่สุดช่วงตุลาคม โดยในช่วงนี้ถ้าเร่งระบายลงอ่าวไทยได้ก็ต้องเร่งเสียก่อน ทางกรมชลประทานได้รับการบ้านไป ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคน เพราะเข้าใจดีว่าการบริหารจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย
พร้อมกันนี้ นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า ช่วงเช้าวันนี้ที่บริเวณประตูน้ำพลเทพ ได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำลงมาแล้ว ทำให้สามารถยันน้ำที่จะเข้ามาในระบบให้อยู่ในระดับนี้ เมื่อไม่มีน้ำในระบบเพิ่มขึ้น มีแต่น้ำทุ่ง ก็จะสามารถทำให้ระดับน้ำที่อยู่ในพื้นที่สุพรรณบุรีอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูสภาพอากาศด้วยว่าหากฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างหนักอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงต้องขอฝากพี่น้องประชาชนว่าหากรีบเก็บเกี่ยวได้ก็ขอให้ทำ เพราะเราไม่แน่ใจว่าฝนในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เราต้องไม่ประมาท ปีนี้น้ำไม่น่าจะเท่าปี 2554
นายวราวุธ ยังได้ขอให้ทางกรมชลประทานไปศึกษาว่าในปีนั้นเราบริหารจัดการน้ำอย่างไรจึงได้ท่วมกรุงเทพฯ ขอให้ศึกษาโมเดลนั้นให้ดี เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ปีหน้า เพราะเมื่อดูปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนแล้วที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปริมาณน้ำปี 2566 มากกว่าปี 2565 พอสมควร สะท้อนให้เห็นว่าเอลนีโญหมดเร็ว แล้วลานีญามาเร็วกว่าที่คิด ที่น่าเป็นห่วงคือปี 2567 ไป 2568 ปริมาณน้ำน่าจะเพิ่มมากขึ้น จึงได้ฝากกรมชลประทานในการเตรียมตัววางแผนขุดลอกคลองและลำน้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำท่าจีน เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ในปี 2568