“รองนายกฯ ภูมิธรรม” ชี้ถึงเวลาต้องคุยกัน ปมเขื่อนแก่งเสือเต้น หลังแม่น้ำยมไร้จุดรองรับ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ยืนยันพิจารณาผลกระทบทุกด้าน มั่นใจรับมือได้ น้ำไม่ท่วม กทม. ซ้ำรอยปี 2554

วันที่ 31 ส.ค. 2567 ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะ รับฟังรายงานแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปริมาณน้ำในเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อมา นายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นภารกิจว่า การมาวันนี้ได้มีการปรึกษาหารือกันตลอด และรับฟังความห่วงใยต่าง ๆ ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ลงพื้นที่ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็มีความเป็นห่วงราษฎรและอยากให้เราดูตรงนี้ให้เต็มที่ เพราะเห็นใจประชาชนที่อยู่ตรงนี้ยากลำบาก

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนวันนี้ตนก็ได้มีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยทั้งหมดได้มีประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง จ.สุโขทัย และ จ.นครสวรรค์ และวัตถุประสงค์วันนี้คือเราได้ยินว่ามีน้ำท่วมหลาก โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงพื้นที่มาก่อนล่วงหน้าแล้ว ด้วยความห่วงใยประชาชน น้ำที่ลงมาที่นี่ลักษณะเป็นน้ำหลากลงมาแล้วกระจายตัว ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยพื้นที่ จ.น่าน พะเยา และ จ.แพร่ เราได้ลงพื้นที่และสั่งการไปเรียบร้อยแล้ว ให้ทุกฝ่ายช่วยกันระบายน้ำลงแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำปิง วัง ที่ลงมาจาก จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะไม่กระทบอะไรมาก เพราะยังสามารถรับน้ำได้ค่อนข้างมาก ส่วนทาง จ.แพร่ ทางด้านที่ลงเขื่อนสิริกิติ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งจากที่ดูแต่ละเขื่อน มีเปอร์เซ็นต์ที่สามารถรับน้ำได้ ขณะที่น้ำที่ลงมาส่วนใหญ่ลงมาจากแม่น้ำยม และมีปัญหามากที่สุดต่อเนื่องมาหลายสิบปี เมื่อน้ำไหลลงมาก็ไม่มีที่รองรับน้ำ ทำให้ จ.สุโขทัย ที่เป็นที่ลุ่มต่ำรับน้ำทั้งหมด

...

ทั้งนี้ เรามา จ.สุโขทัย เพื่อแก้ไขป้องกัน สิ่งไหนที่กีดขวางทางน้ำก็สั่งการให้ สทนช. ทลายลง เช่น รางรถไฟเดิมที่เป็นจุดขวางน้ำก็ขอให้รื้อออก เพื่อระบายลงไปให้เร็วที่สุด และเราได้มีการประกาศภาวะอุบัติภัยไปแล้ว ทำให้จังหวัดสามารถใช้เงิน 20 ล้านบาท ในการดูแลเยียวยาเบื้องต้นที่สามารถทำได้ทันเหตุการณ์ ส่วนของรัฐบาลก็มีงบกลางที่จะช่วยเรื่องภัยพิบัติอยู่ เราก็มาดูว่าอันไหนที่จะป้องกันเพิ่มเติมหรือป้องกันน้ำที่กำลังเข้ามาก็ควรจะทำ เมื่อตนกลับไปจะเสนอเป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่จะขอใช้เงินให้คิดกันในระยะยาวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับ จ.สุโขทัย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาพูดคุยกันถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่าง 2 ฝ่าย ระหว่างพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติที่ต้องทุกข์ร้อนต้องจมอยู่กับน้ำขังน้ำหลากมาเป็นเวลานาน แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีสภาพแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง เราก็เข้าใจ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และดูแลทุกอย่างให้ครบถ้วน ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้เราได้มีการประสานงานกับเวิลด์แบงค์ซึ่งเขาขอเข้ามาดำเนินการ เราก็ให้เขาไปศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งต้องดูประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่ไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นว่ามีเหตุผลอะไร มีจำนวนเท่าไหร่ หาก็มีปัญหาทางกายภาพ การชดเชยเยียวยา เราสามารถทำให้เป็นธรรมกับเขาได้ โดยจะมีการไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า อยากให้ตรงนี้เป็นที่ยุติสาธารณะโดยเร็วที่สุด ซึ่งตนอยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ ถ้าเกิดสามารถจัดการจบได้ใน ครม. สามารถดำเนินการได้เลย เพราะต้องใช้เวลาอีกหลายปี และเงินที่นำมาแก้ปัญหาอยู่ในระบบที่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเต็มที่

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวลือในโซเชียลมีเดียมากว่าจะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 54 ซึ่งเมื่อมาดูแล้วมีระบบการกระจายน้ำไปในส่วนต่าง ๆ ส่วนจะมีพายุเข้ามาหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการของกรมอุตุนิยมวิทยา จุดที่มีปัญหาเมื่อคำนวณแล้วเชื่อว่าเราสามารถรับมือสถานการณ์ได้ อย่างเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และอีกหลายเขื่อนมีน้ำเพียง 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 2 เท่านั้น ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มาก และน้ำอยู่ในช่วงของการระบายเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น จึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนวิตก ข้อมูลส่วนวิชาการที่เราทำขณะนี้ เราทำด้วยใจที่รู้สึกว่าพี่น้องประชาชนยากลำบากและมีความเป็นห่วงเป็นใย รวมถึงพื้นที่ กทม. ด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเชื่อใจหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ ครม. จะต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายภูมิธรรมและคณะ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์น้ำและพื้นที่การเกษตร โดยบินผ่านบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท นายภูมิธรรม กล่าวว่า จ.สุโขทัยเท่าที่ฟังเสียงประชาชนอยากได้สถานที่รองรับน้ำเพราะแม่น้ำยมไม่มีจุดรองรับ จึงเป็นปัญหาซ้ำซากมาตลอดทุกปี ดังนั้นเวลาต้องคุยกัน หากสร้างเขื่อนเชื่อว่าน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ วันนี้ที่บินดูพื้นที่ที่น้ำจากเขื่อนภูมิพลจะทยอยลงมา โดยพื้นที่ใต้เขื่อนดูแล้วคน กทม. น่าจะสบายใจขึ้น เขื่อนสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ไม่มีปัญหาอะไร และจากกระบวนการรองรับน้ำหากมีพายุเข้าก็น่าจะเอาอยู่ ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบรุนแรง ถ้าบริหารจัดการได้ดี ข้างล่างก็ไม่มีปัญหา เพราะมีเขื่อนดักไว้เป็นส่วน ๆ มีโอกาสที่จะกักน้ำได้ ฉะนั้นปีนี้ไม่น่าจะเหมือนปี 54