“สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” โต้กลับพรรคเพื่อไทย อ้างกระจายอำนาจขนส่งสาธารณะแล้ว จึงคว่ำร่างกฎหมายพรรคประชาชน แฉความจริงตั้งงบปี 68 เพื่อจ้างที่ปรึกษา แนะลองถามประชาชน รัฐบาลอยู่มา 1 ปี ขนส่งสาธารณะท้องถิ่นพัฒนาขึ้นบ้างหรือไม่ ย้อนถามแล้วเมื่อไหร่ท้องถิ่นจะมีรถเมล์ ดี ๆ

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย สื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ว่า ถึงแม้เมื่อวานนี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ จะมีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบกของพรรคประชาชน แต่ขอยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาได้ให้อำนาจท้องถิ่นเพิ่มเติมแล้วในหลายลักษณะ

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยประกาศมีความคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดอยู่หลายจุด โดยตนขอแจกแจงรายละเอียดเป็น 4 ประเด็น ประเด็นแรกพรรคเพื่อไทยอ้างว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2567) เพื่อให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะได้เอง แต่ในความจริงคือ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเพียงการระบุวิธี “ขอดำเนินการ” ไม่ใช่การ “ให้อำนาจดำเนินการ” ทำให้โครงสร้างอำนาจยังคงเหมือนเดิมคือรวมศูนย์อยู่ที่รัฐราชการส่วนกลาง ถ้าท้องถิ่นต้องการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ ก็ให้ “ขอ” มาเป็นรายกรณี

ประเด็นที่สอง พรรคเพื่อไทยอ้างว่า ปัจจุบันคณะกรรมการกลางฯ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ถ่ายโอนอำนาจการกำหนดราคาค่าโดยสารและการออกใบอนุญาตประกอบการให้คณะกรรมการในระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือ โครงสร้างอำนาจปัจจุบันตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 20 วรรคท้ายระบุไว้ว่า การกำหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตและราคาค่าโดยสาร “เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้ว จึงจะบังคับใช้ได้” หมายความว่า การขออนุมัติต้องทำผ่านคณะกรรมการจังหวัดที่นอกจากจะแทบไม่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังต้องไปผ่านรัฐส่วนกลางอีกรอบ ซึ่งก็คือการรวมศูนย์ไว้ที่รัฐราชการส่วนกลางเช่นเดิม

...

ประเด็นที่สาม พรรคเพื่อไทยอ้างว่า ในงบประมาณปี 2568 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาฯ มีการตั้งโครงการเพื่อศึกษารูปแบบการอุดหนุนของรัฐในระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการมีระบบขนส่งสาธารณะของตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งนายสุรเชษฐ์กล่าวว่า งบประมาณส่วนนี้เป็นเพียงการจ้าง “ที่ปรึกษา” มูลค่า 10 ล้านบาท และต้องรอผลการศึกษาอีก 1 ปี ซึ่งเป็นงบตามระบบราชการ ไม่ใช่การริเริ่มจากพรรคเพื่อไทย แตกต่างจากพรรคประชาชนที่ศึกษามาแล้วว่าควรเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มากที่สุด จนเสนอออกมาเป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบกอย่างเป็นรูปธรรม แต่สุดท้ายกลับโดนพรรคร่วมรัฐบาลปัดตก โดยไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมาเปรียบเทียบเลยด้วยซ้ำ

และประเด็นสุดท้าย พรรคเพื่อไทยอ้างว่า “ทุกอย่างมีการดำเนินการอยู่ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย และคงไม่ช้าเกินไปหากในเวลานั้นเราจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง ในแง่มุมที่ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น” นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งนี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก ให้ลองถามประชาชนดูว่ารัฐบาลนี้อยู่มา 1 ปีแล้ว ด้วยแนวทางการกระจายอำนาจขนส่งสไตล์รัฐบาลเพื่อไทย ขนส่งสาธารณะในท้องถิ่นของแต่ละคนพัฒนาขึ้นบ้างหรือไม่

“ความฝันที่ท้องถิ่นจะมีรถเมล์ดีๆ ต้องรออีกนานเท่าไหร่ หากรัฐบาลไม่จริงใจกับการกระจายอำนาจ” นายสุรเชษฐ์กล่าวทิ้งท้าย