บทความนี้เขียนวันพุธ การตั้ง “ครม.อิ๊งค์ 1” ของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่เสร็จ คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติตัดเยื่อใยกับ พรรคพลังประชารัฐ ของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเชื้อเชิญ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้อยู่ในพรรคเข้าร่วมรัฐบาลแทน และส่งเทียบเชิญ พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่นิ่ง คนแก่ในพรรคยังหิวโหยอยากเป็นรัฐมนตรีต่อ การตั้ง “ครม.อิ๊งค์ 1” อาจจะไม่เสร็จในสิ้นเดือนนี้ตามไทม์ไลน์ แม้จะมี อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวใกล้ชิดก็ตาม

ถ้าได้ ครม.ครบ 35 คนในสิ้นเดือนนี้ การตรวจสอบประวัติย้อนหลัง ของรัฐมนตรีแต่ละคน คงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะ รายชื่อรัฐมนตรีที่เป็นข่าว ล้วนมีประวัติโชกโชนทั้งนั้น

คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ที่มีความคิดเป็นเส้นตรง รัฐบาลถามมา 1 ข้อ ก็ตอบ 1 ข้อ แม้จะโยงกับข้อ 2 ก็จะไม่ตอบข้อ 2 เพราะรัฐบาลถามแค่ข้อ 1 ตัวอย่าง อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดนมาแล้ว คุณ ปกรณ์ บอกกับนักข่าวว่าการตรวจสอบประวัติว่าที่รัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร คงจะตรวจสอบตามหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้จะมีว่าที่รัฐมนตรีสอบตกกันกี่คน เพราะครั้งนี้คงตรวจสอบกันจริงจัง ถ้าไม่จริงจังมีคนร้องขึ้นมา นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร อาจหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

วันนี้ผมจะพาไปดู “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการถอดถอน อดีตนายกฯ เศรษฐา ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกาจะใช้เป็น มาตรฐานในการตรวจสอบประวัติว่าที่รัฐมนตรี ของรัฐบาลอิ๊งค์ 1 เข้มงวดขนาดไหน

...

จากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า “...ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)...”

มาตรฐานจริยธรรมนี้มีชื่อเต็มว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561” ประกาศใช้เมื่อ 18 มกราคม 2561 และใช้บังคับแก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรี ด้วย มี 3 หมวด โดยเฉพาะ “หมวด 1” เข้มงวดมาก ถ้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม “ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง” มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อ 5 ดังนี้

“ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็น
การรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติในกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้”

ทั้งหมดนี้คือ “คัมภีร์” ที่ใช้ สอยนายกฯ หรือ สอยรัฐมนตรี สส. สว. ได้ตลอดเวลา.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม