การยุบพรรค การถอดถอนนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหาทำผิดจริยธรรมร้ายแรง กลายเป็นปัญหาใหญ่ในทางการเมือง จึงมีการนัดพบกันระหว่างนายวิสุทธิ์ ไชยณรุน ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เพื่อหารือปัญหาจริยธรรม และการยุบพรรค

เดือนสิงหาคมที่กำลังจะผ่านไป ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีใหญ่ทางการเมือง 2 คดี ได้แก่การยุบพรรคก้าวไกล ในข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในข้อหาไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายวิสุทธิ์แถลงว่า ได้นัดกับ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือเกี่ยวกับประมวลจริยธรรม และการยุบพรรค เพราะ เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกคนหนักใจ เช่นคำว่า “มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์” มีความหมายกว้าง แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหา นั่นก็คือฝ่ายค้านกล่าวหาว่า รัฐบาลล่าช้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ปัญหาอาจเป็นช่องทางที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาจริยธรรม และการยุบพรรค และต้องยอมรับว่ารัฐบาลค่อนข้างล่าช้า เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐาเคยให้สัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566 จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยในทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก มีการตั้งคณะกรรมการศึกษา แนวทางการแก้ไขจริง

คณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดทำประชามติ เป็นเวลานานหลายเดือน ในที่สุดประธานคณะกรรมการประกาศว่า อาจต้องขอเวลาประมาณ 3-4 ปี ให้ทันเลือกตั้งคราวหน้าพอดี จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีถูกถอดถอน และมีปัญหาจริยธรรมแทรกซ้อนเข้ามา ก็ยังไม่เห็นโฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยสัญญา

...

ปัญหาใหม่ๆที่แทรกซ้อนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจริยธรรม ซึ่งตีความแบบต่างคนต่างตี หรือการยุบพรรค ด้วยข้อหาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องแก้ไขหรือป้องกัน ด้วยการระดม สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และรวมทั้ง สว. จัดเวทีสังคายนาครั้งใหญ่ ประเทศประชาธิปไตยควรยุบพรรคหรือไม่

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ฉบับที่เขียนขึ้นในบรรยากาศประชาธิปไตย ระบุว่าบุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง โดยยึดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ในสังคม ประชาธิปไตย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น สังคมประชาธิปไตยต้องไม่มีการปิดปาก ปิดหู หรือปิดตาประชาชน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม