น้ำท่วมไม่หนักเท่าปี 2554 “จักรพงษ์” เผยหลังประชุมติดตามสถานการณ์ ยัน กทม. ไม่ท่วมแน่นอน แต่ต้องจับตาสุโขทัย ปริมาณน้ำสูงสุดพรุ่งนี้ ด้านเลขาฯ สทนช. ระบุ เขื่อนยังรับน้ำได้อีกมาก ชี้ ปริมาณน้ำต่างกันโดยสิ้นเชิง

เมื่อเวลา 12.25 น. วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ว่า มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ยืนยันได้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะไม่เท่ากับปี 2554 อย่างแน่นอน เพียงแต่ช่วงนี้มีฝนฉับพลันเข้ามาทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยทุกกระทรวงร่วมมือกันจัดส่งอุปกรณ์ช่วยเรื่องการระบายน้ำเพื่อที่จะระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทาง สทนช. จะเร่งรัดประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยดูเรื่องการระบายน้ำและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้จัดส่งอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งจัดส่งอาหาร และน้ำดื่มสะอาดให้ผู้ประสบภัยด้วย

...

นายจักรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ช่วง 2-3 วันนี้ฝนจะยังตกอยู่ แต่จะตกน้อยลงช่วงวันที่ 29-31 สิงหาคม 2567 ทุกหน่วยงานจึงต้องเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตมีการประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แล้ว ซึ่งท่านได้ประสานให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์ในการขยายสัญญาณในพื้นที่ที่ประสบภัยทั้งหมด

ทั้งนี้ ช่วงปี 2554 ระดับน้ำฝนเกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่เดือนเมษายน ประกอบกับน้ำในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณสูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับปีนี้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และน้ำในเขื่อนยังอยู่ในปริมาณที่สามารถดูแลได้ เมื่อถามย้ำ ที่บอกว่าปริมาณน้ำไม่เท่าปี 2554 หมายความว่ากรุงเทพฯ จะไม่ท่วมแน่นอนใช่หรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า “ไม่ท่วม”

ส่วนมวลน้ำที่จะลงมาที่ จ.สุโขทัย นายจักรพงษ์ กล่าวว่า กำลังกระจายออกไปด้านข้างบ้างแล้ว ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (27 สิงหาคม 2567) ปริมาณน้ำจะสูงที่สุด ขณะนี้หน่วยงานพยายามบริหารจัดการให้น้ำกระจายออกด้านข้างได้มากที่สุด หากผ่านพรุ่งนี้ไปได้ก็จะอยู่ในสถานะที่ดี ผู้สื่อข่าวถามต่อ จะไม่เกิดพายุขนาดใหญ่เหมือนปี 2554 ใช่หรือไม่ นายจักรพงษ์ เผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามา 1-2 ลูกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำอาจจะเพิ่มขึ้น เราจึงต้องรีบเร่งบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่งบประมาณจะมี 3 ส่วนโดยจะทำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด คือ

1. งบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี
2. ส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ใช้ทดรองจ่ายอยู่ท่านละ 50 ล้านบาท
3. งบประมาณของแต่ละกระทรวงที่จะขอตรงเข้ามาในการขอซื้ออุปกรณ์ระบายน้ำ เบื้องต้นกระทรวงกลาโหมส่งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือแล้ว

ทางด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ปริมาณน้ำที่ จ.สุโขทัย จะมากที่สุด คือ จุดสถานี Y14A อ.ศรีสัชนาลัย ก่อนที่จะมาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ดังนั้น เรื่องการบริหารจัดการน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ จะระบายไปทางคลองยม-น่านเป็นหลัก และก่อนหน้านี้มีการรื้อทางรถไฟที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อที่จะระบายได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอ อีกส่วนจะระบายในคลองในแม่น้ำยมเก่า จะระบายได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เหลือจะระบายในส่วนของท้ายหาดพระจันทร์ โดยขณะนี้ตัวเมืองสุโขทัยระบายได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจมีน้ำล้นพนังกั้นน้ำบ้างเล็กน้อย แต่พี่น้องประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันเสริมกระสอบทรายจึงเป็นลักษณะน้ำล้นในระดับหนึ่ง แต่ก็มีเครื่องสูบน้ำที่จะสูบออกเพื่อบริหารจัดการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองสุโขทัย

นายสุรสีห์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้น้ำจะมาทาง จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ จึงจะมีการเร่งระบายน้ำลงในแม่น้ำน่าน เพื่อให้น้ำในทุ่งน้อยลง เนื่องจากมีการประเมินว่าในเดือนกันยายน มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมากเข้ามาอีก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ส่วนเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้ว และหลังจากนี้น้ำจะมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้การระบายน้ำเจ้าพระยา อยู่ที่อัตรา 700 ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบตามที่เป็นข่าวว่าจะเหมือนปี 2554 เพราะปี 2554 น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มาในครั้งนี้ต่างจากปี 2554 โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะมีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนก่อนในการให้ยกของขึ้นที่สูง

ในตอนท้าย นายสุรสีห์ ยังกล่าวด้วยว่า นายจักรพงษ์ สั่งการว่าพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ยังไม่สามารถระบายน้ำตามธรรมชาติได้ ให้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยเหลือให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว ขณะที่เรื่องของพายุ กรมอุตุฯ ใช้หลักสถิติว่าช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ยังเป็นช่วงฤดูฝน มีโอกาสที่จะเกิดพายุที่จะเข้าประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ส่วนจะเข้ามาหรือไม่ต้องติดตามอีกครั้ง แต่เราก็ไม่ประมาทที่จะมีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขณะนี้อยู่ในจุดที่ยังรองรับน้ำได้อีกมาก.