“อ.ปริญญา” มอง บทบาท “ทักษิณ” เหมือนนายกฯ ตัวจริง อาจถูกร้องครอบงำพรรค นำไปสู่การถูกร้องยุบพรรคได้ แนะ “ครม.แพทองธาร 1” ไม่ควรช้า ชี้ อาจเป็นเกมการเมืองของอดีตนายกฯ กับคนบ้านป่ารอยต่อ

วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในแง่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีจำนวนมาก ดูเหมือนรัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอ แต่ต้องไปดูที่ตอนตั้ง ครม. เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะทูลเกล้าฯ เสนอชื่อใคร อีกทั้งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินเกมเร็ว ไม่มีการเจรจาตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัญหาจะไม่มีอะไรหากไม่มีความขัดแย้งหรือแตกแยกในพรรคเดิม ซึ่งการไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนทำให้เกิดอำนาจในการสร้างทีมว่าจะเลือกใครอยู่ใน ครม.บ้าง จึงเป็นเรื่องการเมืองที่เป็นปัญหาของ น.ส.แพทองธาร ว่าจะตัดสินใจอย่างไรกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่เรื่องเสียง สส.ในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีปัญหา เพราะมีพรรคประชาธิปัตย์ที่มารอเติมเสียงอยู่

ส่วนที่หลายคนวิเคราะห์ว่าปัญหาการจัด ครม.ในครั้งนี้ เป็นเกมเอาคืนของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อ พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ปริญญา ให้ความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีคือ น.ส.แพทองธาร ควรมีอิสระในการตัดสินใจ แน่นอนว่าการปรึกษาคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องปกติ แต่หากพูดกันตรงๆ มันคือเรื่องการเมืองที่นายทักษิณ จะตัดสินใจว่าจะปรองดองกับ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ หากปรองดองก็จะทำให้การประกาศอิสรภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแปลก ซึ่งเป็นเรื่องที่นายทักษิณ จะตัดสินใจว่าจะเอา ร.อ.ธรรมนัส แล้วไม่เอา พล.อ.ประวิตร ครม. หน้าตาก็จะออกมาเป็นอีกแบบหนึ่ง จึงถือเป็นเรื่องการเมืองระหว่างนายทักษิณ กับคนบ้านป่ารอยต่อ 

...

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ในการแสดงวิสัยทัศน์ของ นายทักษิณ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะตัดสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร โดย ผศ.ดร.ปริญญา ตอบว่า เรื่องนี้จะต้องไปถามท่าทีของ นายทักษิณ ว่ายังคงยืนตามเหมือนวันที่ไปพูดบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ หากตามท่าทีที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า นายทักษิณ ไม่ได้เลือก พล.อ.ประวิตร แล้ว จึงมีการออกมาของ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมกับ สส.อีกกว่า 20 คน และต้องไปรอดูว่า ครม. จะทูลเกล้าฯ เมื่อใด และการตั้ง ครม. ก็ไม่ควรช้า เพราะ ครม.รักษาการ ก็ไม่ควรทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากตอนนี้เราได้นายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยควรจะรีบทำให้จบโดยเร็ว  

ขณะที่คำถามว่าบทบาทของ นายทักษิณ ที่ออกมาจนอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข่ายครอบงำพรรค จะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทยในอนาคต ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า จริงๆ ไม่ใช่อาจจะถูกวิจารณ์ แต่มีผู้วิจารณ์แล้ว ซึ่งนายทักษิณ ก็ออกมาตอบแล้วว่าไม่ได้ครอบงำ แต่เป็นครอบครอง ก็คงเป็นมุกตลกไป ตนไม่ทราบว่า นายทักษิณ ได้คิดถึงเรื่องนี้หรือไม่ เพราะบทบาทของ นายทักษิณ เหมือนกับนายกรัฐมนตรีตัวจริง และ น.ส.แพทองธาร ไม่ทำให้เห็นว่าเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องนี้อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับเรื่องครอบงำพรรคการเมือง ที่อาจนำไปสู่การถูกร้องยุบพรรคได้ และไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างไร 

นอกจากนี้ จะต้องไปดูตอนรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าสิ่งที่ น.ส.แพทองธาร แถลง เหมือนหรือต่างกับที่ นายทักษิณ พูดบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่เพียงใด หาก น.ส.แพทองธาร ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะอ้างได้ว่า นายทักษิณ พูดเพื่อช่วยนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ไม่รู้ว่าจะแยกเรื่องนี้ออกจากกันได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์ที่คนที่ยังมีเรื่องติดใจ นายทักษิณ ไปร้องก็เป็นไปได้ 

ในตอนท้ายผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ครม.แพทองธาร ควรมีพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา เผยว่า เรื่องนี้จะต้องไปถามพรรคเพื่อไทย เสียงของรัฐบาลในตอนนี้มีเพียงพอแล้ว แต่อาจจะเป็นการเมืองในการตัดกำลังของฝ่ายค้านให้น้อยลง หากฝ่ายค้านมีเสียงน้อย รัฐบาลก็จะยิ่งเข้มแข็ง และอาจจะมองไปสู่การเลือกตั้งคราวหน้า ยิ่งคู่แข่งมีปัญหามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป.