การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 สิงหาคม มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยมี 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

กรรมการ 1 ท่านที่ให้ปรับลดดอกเบี้ยเห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวตํ่าลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ได้บ้าง

คุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจาก การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้าง ขณะที่การส่งออก สินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดัน จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกัน รายได้แรงงานในภาคการผลิตกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไปต้องติดตามความเสี่ยงด้านตํ่าจากการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน

ความเห็นของ กนง. สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ที่มีการแถลงเมื่อวันจันทร์ จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวเพียง 1.6% ทำให้ครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัวได้ 1.9% คาดว่าปี 2567 จีดีพีจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคในประเทศ การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การขยายตัวของภาคการส่งออก

...

ความจริงแล้ว เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้ ถ้าบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเอื้ออำนวย แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปในช่วง การปฏิวัติรัฐประหารซึ่งครองอำนาจยาวนานถึง 10 ปี ทำให้ประเทศไทยหายไปจากจอเรดาร์ของนักลงทุน กลายเป็น Lost Decade หนึ่งทศวรรษของประเทศไทยที่หายไป รวมทั้งมูลค่าเศรษฐกิจ มหาศาลที่หายไปด้วย วันนี้จึงต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ อย่างที่ สภาพัฒน์ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงครึ่งปีหลัง “ต้องรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการผลิตโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง

เป็นข้อเสนอแนะที่ผมคิดว่า นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ควรจะให้ความสำคัญมากกว่านโยบายประชานิยม เพราะหนึ่งปีของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรดีขึ้น จีดีพีไตรมาสแรกโตเพียง 1.6% ทั้งที่การท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวแล้ว

ข้อเสนอแนะอีกข้อของสภาพัฒน์ ที่ผมคิดว่า นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ “การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “สินค้าจีน” ราคาถูกที่ถูกส่งเข้ามาทุ่มตลาดในเมืองไทยอย่างเสรี โดยรัฐบาลไม่ได้ปกป้องธุรกิจคนไทยเลย ทำให้สินค้าไทยและภาคการผลิตไทยถูกทำลายไปเป็นมูลค่ามหาศาล ที่เห็นชัดเจนคือ ตลาดรถยนต์มูลค่าหายไปนับล้านล้านบาท และ ไทยยังเสียดุลการค้าให้จีนอีกปีละกว่า 1.3 ล้านล้านบาท สิ่งเหล่านี้คือ ความมั่งคั่งของคนไทยที่ถูกขโมยไปทำให้จีดีพีโตไม่ได้ เป็นหน้าที่ของ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ที่จะต้องไปตามความมั่งคั่งนี้กลับคืนมาให้กับคนไทย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม