มหาดไทย จับมือราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เดินหน้าส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงรุก ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ป้องกันการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก

วันที่ 21 ส.ค. 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย โดยน้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำงานสอดประสานร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยกัน “Change for Good” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคม

โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (ร.พ.อ.ท.) และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางมาหารือ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย มี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมหารือ

โดยทาง ศ.นพ.กีรติ ยังได้เชิญชวนให้กระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้ประสบเหตุกลุ่มเสี่ยง ในการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพกหรือกระดูกในส่วนอื่นๆ จนทำให้ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด และจากงานวิจัยพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ประมาณ 684,000 ราย และจากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชากรไทย พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบเหตุหกล้มทุกปี โดยในปี 2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม จำนวน 1,255 ราย คิดเป็น 10.2 ต่อประชากรผู้สูงอายุแสนคน และยังพบว่ามีจำนวนมากกว่าครึ่งที่จะเกิดการพลัดตกหกล้มซ้ำ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก ยังมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 29 ดังนั้น หากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีอาจถึงแก่ชีวิตได้

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการในเชิงระบบร่วมกับ ร.พ.อ.ท. ด้วยการส่งเสริมให้คนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงโรคกระดูกที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อตั้งคณะทำงานในการจัดทำหนังสือคู่มือทางวิชาการ “Good Health and Well-Being” เพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพ ในรูปแบบคู่มือการปฏิบัติการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยตั้งแต่เด็กเล็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เด็กปฐมวัย ตลอดจนเด็กมัธยมที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรักษาความสะอาดของร่างกาย การล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอ การรู้จักวัฒนธรรมความปลอดภัย มีอุปนิสัยที่ดีต่อการรักษาสุขภาพ ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกหลานของเรา โดยการกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมตามอายุของเด็กแต่ละช่วงวัย