โฉมหน้า ครม.แพทองธาร ชินวัตร จะออกมาแบบไหนก็เป็นอีกเรื่อง เกินครึ่งความสำเร็จของการบริหารประเทศขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศ น่าเห็นใจว่า รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมารับไม้ต่อจาก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในห้วงของสงครามเศรษฐกิจโลก ทั้งกีดกัน และแข่งขันสูงสุดในทุกภูมิภาค

การสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย การจะยกเลิกนโยบายรัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ ยิ่งยากกว่ามาก การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด อาทิ มีของฝากจากหอการค้าถึงรัฐบาลชุดใหม่ตั้งแต่ไก่โห่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์หอการค้าอยากเห็นนโยบาย ควิกวิน 6 ข้อ เดินหน้านโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหนุนเดินหน้าซอฟต์พาวเวอร์ รักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว ตามเป้า 36-37 ล้านคน การเร่งเบิกจ่ายงบ ประมาณปี 2567 และเร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน รวมทั้งเรื่องมาตรการเยียวยาที่จำเป็น และพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ สรุปว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยากให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาเร่งด่วน นโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี เรื่องเงินทุนที่เอสเอ็มอีกำลังขาดออกซิเจน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตสูง ราคาพลังงาน และค่าแรงที่จะสูงขึ้นเป็น 400 บาท ทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ข้อสุดท้าย สินค้าราคาถูก ที่ทะลักเข้ามาทุกทิศทุกทาง จนท่วมตลาดทั้งในไทยและภูมิภาคนี้ ทำให้เอสเอ็มอีต้องปิดกิจการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กว่า 667 แห่ง หวังว่ารัฐบาลแพทองธารจะทำต่อ และทำให้ดีกว่าเดิม

ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านบุคลากรและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะทำให้ฐานรากของประเทศมั่นคง ทุกวันนี้เรายังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพราะขาดแรงงานที่มีทักษะด้านนี้ หรือปัญหาง่ายๆ เราขาดแม้แต่ทักษะด้านภาษา ที่เป็นจุดอ่อนของ แรงงานไทย เราส่งเสริมบุคลากรที่เก่งและมีความสามารถพิเศษ แต่เราไม่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง เราไม่เน้นคุณภาพการศึกษาเราเน้นแต่ปริมาณ เราไม่เน้นคุณภาพของสาธารณสุข เราเน้นแต่จำนวนของบุคลากรสาธารณสุข

...

เราไม่เคยพัฒนา จุดเด่นของสินค้า เราใช้จุดเด่นของสินค้าที่จะสร้างปริมาณเท่านั้น กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลการส่งออกทุเรียนในช่วง 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะส่งออกทุเรียนได้ตามเป้าหมาย 3,500 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยเกษตรกรเวียดนามได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากรัฐบาลในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกถึงร้อยละ 50-60 จากปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนแล้วนับแสนไร่ เน้นเป็นการผลิตนอกฤดูกาลเป็นหลัก

ส่วนบ้านเราพอทุเรียนขายได้ราคาก็แห่ปลูกทุเรียนกันใหญ่ พอยางได้ราคาก็โค่นทุเรียนปลูกยาง พอยางราคาตกก็มาปลูกทุเรียน พอสภาพอากาศไม่อำนวยไม่ให้ผลผลิตก็ขาดทุน ขายสวนทุเรียนสวนยาง กลับไปทำงานโรงงาน แม้แต่การท่องเที่ยวก็แข่งกันสูง ขนาดเกาหลีเหนือยังเปิดการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว

เจริญฮวบๆ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม