“กฎเหล็ก” ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่ต้องรับผิดชอบ

เพราะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งมิอาจหลีกเลี่ยงได้

“เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้หลุดจากเก้าอี้

ก็เพราะ...

ได้แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีทั้งๆ ที่รู้ว่าขาด คุณสมบัติทำหน้าที่ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องรับผิดชอบโดยตรง

โดยศาลชี้ว่า...

1.ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

2.ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

นี่เป็นหนังตัวอย่างที่เกิดขึ้นร้อนๆ จึงไม่แปลกที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงต้องสั่งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทุกคนทั้งเก่าและใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

เพราะถ้าผิดพลาดขึ้นมาก็จะกลายเป็น “เศรษฐา 2” ทันที

ว่ากันว่าทีมงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบคือเลขาธิการ ครม.กฤษฎีกาได้ร่วมหารือกับตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดกรอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามทั้งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ลงนามแต่งตั้งและบุคคลที่จะรับตำแหน่งต่างก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้

ความจริงแล้วการตรวจสอบคุณสมบัติถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้รัฐมนตรีมีภาพลักษณ์ที่ดีไม่ต้องถูกติฉินนินทาไปต่างๆนานาทำให้เกิดความเสียหาย

บรรดานักการเมืองที่มีประวัติ “สีเทา” แต่พยายามหาเหตุผลเพื่อมาลบล้างสิ่งที่ตนเองกระทำไว้แม้จะยังทำหน้าที่ได้

แต่ก็ต้องเป็นขี้ปากจากสังคมและสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยอย่างหนึ่งก็คือจะถูกฝ่ายค้านเปิดซักฟอกทันทีเนื่องจากมีตำหนิเสียแล้ว

...

แน่นอนว่าในบรรดานักการเมืองทุกวันนี้ก็มีหลายคนที่อยู่ข่าย “สีเทา” อยู่ที่ว่าจะเป็นด้านไหนเท่านั้น

เลวร้ายที่สุดก็คือมีพฤติกรรมประพฤติมิชอบมีคดีความติดตัว

หรือแอบอ้างในเรื่องวุฒิการศึกษา

เพียงแต่ไม่สามารถจับได้ไล่ทันให้จนมุมได้จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่มีตำแหน่งทางการเมืองแต่สังคมต่างรู้ดีว่ามีพฤติกรรมอย่างไร

ฉะนั้น ใครคิดที่จะเล่นการเมืองต้องเตรียมตัวให้พร้อมทุกด้านอย่าไปทำอะไรผิดๆ เพราะเรื่องจริยธรรมนั้นจะติดตัวมีประวัติไปตลอด

รัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีการตั้งฉายาฉบับ “ปราบโกง” นั้น แม้บางส่วนจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สั่งให้ร่าง

แต่ก็มีหลายส่วนที่มีส่วนดี โดยเฉพาะการกำหนดหลักว่าด้วย “จริยธรรม” ทำให้นักการเมืองที่มีการกระทำผิดจริยธรรม

ต้องถูกลงโทษห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต

ถือว่าเป็นการประหารทางการเมืองเลยทีเดียว

วันนี้หลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็น “มาตรฐาน” ที่จะกำหนดความประพฤติของนักการเมืองที่ต้องปฏิบัติตาม

ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม