ขณะหูฟังข่าวทีวี นายกฯ แพทองธารกำลังคัดกรองรัฐมนตรี ผมเปิดหนังสือ “คนอื่นเรียกนายกฯ แต่เราเรียก...พ่อ” (จากใจ โอ๊ค เอม อิ๊ง) (สำนักพิมพ์ฏ.ปฏัก เม.ย.2552) ตอนหนึ่งในบทที่ 11 พ่อกลับมาแล้ว

31 ก.ค.2551 วันที่คนในครอบครัวไปนั่งกันพร้อมหน้า ฟังคำพิพากษาศาลอาญาชั้นต้น คดีหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้น บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้น 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชาย และเลขาฯคุณหญิง

ผลการตัดสินจำคุกคุณหญิงพจมาน 3 ปี เป็นข่าวใหญ่ แต่ที่ถูกกล่าวขวัญถึงไม่แพ้กัน ก็คือภาพของเด็กสาวที่มีหน้าตาคล้ายพ่อกว่าลูกคนใด แสดงสีหน้าแววตาบอกอารมณ์อย่างสุด “ก็อย่างที่บอกไง ฉุนง่าย คนเนี้ย” เอมแซวอิ๊ง

หนังสือเล่มนี้ มีภาพข่าวนี้ให้ดู...บรรทัดสุดท้ายจบสั้นๆ “ไชโย! พ่อกลับมาแล้ว...แล้วไง?”

ผมตั้งใจเลือกอ่านต่อบทที่ 23 ก้าวสู่มหาวิทยาลัยชีวิต

“อิ๊ง” ชื่อ “อิ๊ง” นะคะ แต่ทุกคนมักจะเรียกอุ๊งอิ๊ง หรือไม่ ก็เรียกอุ๋งอิ๋งไปเลย ตอนเป็นเด็กแบเบาะอยู่ คนทักทายก็จะทำเสียงอุ๊งอิ๊งๆ ลุงก็เรียกอุ๊งอิ๊ง ความจริงคืออิ๊ง ที่บ้านก็เรียกน้องอิ๊ง

เรียนชั้นอนุบาลที่จุไรรัตน์ 2 ปี ก่อนย้ายไปเรียนที่เซนต์โยเซฟ คอนแวนต์ ที่เดียวกับเอมตั้งแต่อนุบาล 3 จนถึง ป.5 พอขึ้น ป.6 ก็ย้ายไป เรียนที่มาแตร์เดอี พร้อมกับเอม เอมชื่นชมน้องคนเล็ก มีความเป็นผู้นำสูง

แต่ตอนประถมกลับไม่ยอมเป็นหัวหน้าห้อง “ที่ไม่ยอมเป็นหัวหน้าห้อง เพราะเขินเวลาจะบอกนักเรียนกราบ เพื่อนเลือกให้เป็นหัวหน้าบอกไม่เอา จะเป็นรองหัวหน้า” “ไม่ยอมเป็นหัวหน้า เพราะกลัวมากเรื่องการพูด”

...

ตอนอยู่มาแตร์ เป็นหัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์ แล้วก็เป็นประธานเชียร์

“ก่อนเอ็นทรานซ์นี่ทรมานมาก เรียนเลข 9 ชั่วโมง ก็เรียนที่โรงเรียนปกติ ติวกับเพื่อนสอบของโรงเรียน แต่ตอนก่อนสอบเอ็นทรานซ์ ก็ไปขอให้ทางเดอะเบรน (สถาบันติว) มาติวเดี่ยวให้ ช่วงนั้นอิ๊งไม่เก่งเลข แล้วเลขก็เยอะมาก”

อิ๊งรู้ว่าอิ๊งติดรัฐศาสตร์จากหนังสือพิมพ์นะ คือตื่นเช้าลงมาแม่ก็บอก “เป็นไงเด็กรัฐศาสตร์จุฬาฯ” อิ๊งก็งง “เหรอคะ” อิ๊ง ดีใจที่สอบติด

“ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ฝึกทำงานที่ร้านแมคโดนัลด์สาขาสยามสแควร์ เบี้ยเลี้ยงชั่วโมงละ 23 บาท 75 สตางค์ ทำงาน 1 เดือน ได้เงินมา 1,900 บาท มีเพื่อนไปทำงานที่ซิซซ์เล่อร์ ได้ชั่วโมงละ 24 บาท โกรธมากได้มากกว่าเรา (ยิ้ม)”

เข้ามหาวิทยาลัยโดนรับน้องตั้งแต่วันแรกๆ นั่งกันเรียบร้อยอาจารย์ก็บรีฟว่า จะเตรียมการเรียนการสอนอย่างไร ก็มีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่ง ยกมือขึ้นพูด“ได้ยินข่าวมาค่ะ ว่ามีนักเรียนบางคนในที่นี้ เข้ามาเรียนโดยไม่สุจริต แล้วทราบว่าอาจารย์รัฐศาสตร์จะรวมตัวกันไม่สอนจริงหรือเปล่าคะ”

อิ๊งนี่เย็นตั้งแต่ศีรษะจดเท้า แต่อิ๊งก็เงียบ อาจารย์ตอบว่า “ไม่มีครับไม่มีอะไรอย่างนั้น”

ออกมานอกห้อง เพื่อนน้องใหม่คนนั้นก็เดินมาพูดว่า “เธอ เธอ เราไม่ได้พูดถึงเธอนะ” แต่น้ำเสียงเยาะเย้ย อิ๊งก็เออๆโอเค แล้วก็เดินไปที่อื่น คือยังใหม่มาก ยังไม่อยากมีเรื่อง

ปี 1 เทอม 1 อาจารย์วิชาการเมืองพูดขึ้นว่า “อุ๊งอิ๊งอยู่ไหน” อิ๊งก็ยกมือขึ้น “อยู่นี่ค่ะ” “ไหนลองยืนขึ้นหน่อยซิ” อิ๊งก็ยืนขึ้น “คุณไปทำงานที่ร้านแมคโดนัลด์มาใช่ไหม?...แมคโดนัลด์มีกี่แบบ” “7-8 แบบค่ะอาจารย์”

อาจารย์พูดใส่ไมโครโฟน “เหรอ โอเค นั่งลงได้ แสดงว่าไปทำมาจริงๆไม่ใช่สร้างภาพ”

อิ๊งชาตั้งแต่ศีรษะจดเท้า แล้วก็นั่งลงอึ้ง เพื่อนแหย่มือมาใต้โต๊ะแตะตัวปลอบไม่เป็นไรแก ไม่เป็นไร เรื่องนี้อิ๊งไม่ได้เล่าให้แม่ฟัง จนกระทั่งทำใจได้ อีกสองปีต่อมา

อ่านมาแค่นี้ ผมก็เริ่มเข้าใจ ภาพที่เห็นแสดงสีหน้าในศาล เป็นธรรมชาติมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง...

ที่เคยมองเธอละอ่อน วันนี้ผมขอประเมินใหม่ นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดคนนี้ ผ่านประสบการณ์ร้ายๆจนแกร่งมากพอจะปะทะพายุการเมืองที่กำลังจะมีทีเดียว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม