ในบรรดามหาประเทศของโลกในขณะนี้ ต้องถือว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว หลายปีที่ผ่านมาบางปีมีนักท่องเที่ยวจากจีนหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวประเทศไทย ถึงกว่า 10 ล้านคน มากที่สุดในโลก แต่ในระยะหลังๆมี “จีนเทา” ปะปนอยู่ในบรรดานักท่องเที่ยวจีน

จีนเทาสมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย โดยไม่เกรงอกเกรงใจเจ้าบ้าน ทำให้สัมพันธ์ไทยกับจีนหม่นหมอง เมื่อหลายวันก่อน “ลม เปลี่ยนทิศ” เขียนระบายไว้ใน “หมายเหตุประเทศไทย” ระบุว่าการค้าระหว่างไทยกับจีน “เข้าขั้นวิกฤติ” หลังจากยักษ์ใหญ่ธุรกิจจีนทุ่มสินค้าเข้ามาถล่มตลาดไทย

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้ ยอมลดราคาสินค้าถึง 90% หวังฮุบตลาดไทยแต่เจ้าหน้าที่ของไทยกลับนิ่งเฉย อ้างว่าเราเก็บภาษีขาเข้ายักษ์ใหญ่จีนไม่ได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในเมืองไทย วันนี้ไทยกำลังใกล้สภาพ สปป.ลาวเข้าไปทุกที นั่นก็คือขาดดุลการค้ากับจีนถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท ติดต่อกันมา 3 ปี อย่างเงียบๆ

สินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำของจีนที่ไหลทะลักเข้าประเทศไทย ไม่ได้มีแค่ยักษ์ใหญ่รายเดียว ยังมีเจ้าของสินค้าอื่นๆอีกมาก ที่เริ่มส่งสินค้าถล่มประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. ต่อมาถึงรัฐบาลเศรษฐา จึงเริ่มมีเสียงเอะอะโวยวาย สินค้าจีนที่ส่งเข้ามาถล่มไทย และกระทบต่อสินค้าไทย ส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐาน

น่าแปลกใจที่สุดก็คือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ไทย ที่บอกว่าเราเก็บภาษีขาเข้าจากธุรกิจยักษ์ใหญ่จีนไม่ได้ เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐาบางคนให้สัมภาษณ์สื่อว่า เราจะไม่ตอบโต้จีนในเรื่องภาษี เพราะเกรงว่าอาจกระทบถึงความสัมพันธ์อันดีกับจีน แต่ไม่ทราบว่าสาธารณรัฐประชาชน จีน คิดเหมือนรัฐมนตรีไทยหรือไม่

...

แต่รัฐมนตรีบางคนยังปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งเฉย ได้สั่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าที่ควบคุมมี 144 รายการ การตรวจสอบอาจสกัดกั้นได้บ้าง

จากการติดตามข่าวการบุกของสินค้าจีน ไม่ได้มีแค่ตัวสินค้า มีรายงานข่าวว่า มีบริษัทจีนบริษัทหนึ่ง เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้เดินรถทัวร์ เข้ามาเจรจากับบริษัทรถทัวร์ไทย เพื่อขอซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ กล่าวโดยสรุป ไทยต้องซื้อสินค้าจีนสารพัด ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือดำน้ำ ส่วนสินค้าไทยที่คนจีนชอบมากที่สุด น่าจะได้แก่ทุเรียน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม