ในบรรดา “ข้อคิดเห็น” จากนักวิชาการ จากผู้มีประสบการณ์ ในการบริหารชาติบ้านเมืองในอดีต ที่ “โพสต์” ไว้ในโซเชียลมีเดีย ถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่มีคุณค่าน่ารับฟัง และควรแก่การนำไปปฏิบัติมากที่สุด ในทัศนะของผม ขอยกให้กับ “โพสต์” ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวง อว. ในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดร.สุวิทย์เจ้าตำรับโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ที่เคยเป็นนโยบายสำคัญในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และเป็น 1 ใน “4 กุมารทางการเมือง” นั่นแหละครับ

ท่านเริ่มข้อคิดเห็นของท่านด้วยถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดว่า “ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับฝันเล็กๆ” ของการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้

(เพราะ) ประเทศต่างๆในโลกศตวรรษที่ 21 มิได้ถูกนิยามโดยแนวคิด หรือระบอบการปกครองอีกต่อไป แต่จะถูกนิยามโดย “ภาพลักษณ์” ที่ประชาคมโลกมีต่อประเทศนั้นๆ

เราจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราคือใคร? อะไรที่ทำให้ประเทศมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน

ประเทศไทยจึงต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับพลังโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยง, ภัยคุกคาม และวิกฤติในหลากหลายรูปแบบ

เมื่อเกริ่นมาถึงช่วงนี้แล้ว ท่าน ดร.สุวิทย์ก็พลิกย้อนอดีตกลับไปมองและวิเคราะห์ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของประเทศไทย ว่ามีวิสัยทัศน์และขับเคลื่อนประเทศมาอย่างไรบ้าง

เริ่มจาก “ป๋าเปรม” กับยุค “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยการจุดพลุ โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด “น้าชาติ” กับวิสัยทัศน์ด้านการเปลี่ยน อินโดจีน จากสนามรบเป็นสนามการค้า

...

แม้แต่ “บิ๊กจิ๋ว” ก็มีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพาประเทศไทยไปเป็น “เสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แต่มาสะดุดเพราะการดำเนินนโยบายการเงินการคลังผิดพลาด จนเกิดภาวะ “ต้มยำกุ้ง” ในที่สุด

ในยุค “ทักษิณ” ก็เคยวาดฝัน “โมเดลประเทศไทยในโลกที่ 1” ไว้ 7 ประการ (เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอลง จึงขอเรียนเชิญท่านผู้สนใจไปเข้ากูเกิลค้นหาบทความของ “ดร.สุวิทย์” อ่านเพิ่มเติมก็แล้วกัน)

ท่านสรุปในช่วงนี้ว่า “ผู้นำประเทศในแต่ละยุคที่ผ่านมา มีวิสัยทัศน์ที่ทำให้พวกเราเกิดความเชื่อมั่น มีความหวังและมีกำลังใจ เกิดความฮึกเหิม เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

“โจทย์ที่ท้าทายนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ คือจะพลิกฟื้นและขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไร ในท่ามกลางพลวัต ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลกที่เชี่ยวกราก และต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลากหลายมิติ ภัยคุกคามไม่ตามแบบ และวิกฤติเชิงซ้อนที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงและไม่หยุดยั้ง”

“ประเทศไทยอ่อนแอถึงที่สุดแล้ว ในฐานะผู้นำประเทศท่านต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมือง “ปลดล็อก” ประเทศไทย ใน “3 วาระวิกฤติ” (Critical Agenda) ให้จงได้...ได้แก่

1.ลดทอนความขัดแย้ง เปลี่ยนจากการเผชิญหน้าเป็นการหันหน้าเข้าหากัน ปลุกจิตสำนึกความเป็นชาติ โดยยึดผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ

2.ทำกระบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ยึดมั่นในนิติรัฐ นิติธรรม

และ 3.ไม่ประนีประนอมกับคอร์รัปชันที่มีอยู่ดาษดื่นทุกหย่อมหญ้า

หากทำ 3 วาระวิกฤตินี้สำเร็จ วาระการขับเคลื่อนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขจัดความยากจนและความเหลื่อมลํ้า การพัฒนาคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ จะเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง”

สุดท้าย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ก็ทิ้งทวนด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลมากจากข้อความภาษาไทยในช่วงเริ่มต้นของข้อเขียนว่า “No Room for Small Dreams สำหรับการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้ครับ”

ซูมหมายเหตุ แม้จะเป็นบทความที่อ่านยากอยู่สักหน่อย เพราะอดีตรัฐมนตรี อว.ท่านใช้ศัพท์แสงทางวิชาการ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยหลายๆคำ แต่ข้อเสนอ 3 ข้อของท่านสามารถอ่านได้และเข้าใจได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ฝากนายกฯท่านใหม่ไว้ด้วยก็แล้วกันครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม