“อาจารย์ป๊อก ปิยบุตร” แจงปมเรื่องรัฐสมบัติ ส่งต่อให้คนในตระกูลมาเป็นเจ้าของเมื่อพ้นไป ถามทำได้หรือ ชี้สภาวการณ์วันนี้ นำมาซึ่ง “ประชาธิปไตย 2 ตระกูล” พร้อมเตือน “อิ๊งค์” กำลังตกอยู่ในสถานะ “ตัวประกัน” และอยู่ใน “กับดักทางรัฐธรรมนูญ” จนอาจประสบชะตากรรม “นิติสงคราม”

วันที่ 17 ส.ค. 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่าน X ถึงเรื่องรัฐสมบัติ ว่า รัฐสมบัติ หรือ Patrimonial State คือ รัฐที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ปกครองคนหนึ่งพ้นไป ก็ส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกในตระกูลขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไป ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐ และรัฐนั้น จึงเสมือนเป็น “ทรัพย์สมบัติ” ของตระกูล ที่สามารถเป็น “มรดก” ยกต่อให้ทายาทในตระกูลได้ 

รัฐสมบัติ ไม่แยกแยะเรื่อง “ส่วนตัว” กับ “ส่วนรวม” ออกจากกัน นำเรื่องของครอบครัว เรื่องของตนเอง ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐ ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐถูกนำไปปะปนกับการใช้จ่ายส่วนตน นโยบายของรัฐถูกนำไปปะปนกับความต้องการส่วนตน ส่วนครอบครัว 

รัฐสมบัติจึงแตกต่างจากรัฐแบบสมัยใหม่ ที่พยายามแยกแดนส่วนตัวออกจากแดนสาธารณะ 

รัฐแบบสมัยใหม่ สร้าง “รัฐ” ให้เป็นนิติบุคคล แยกออกจาก “คน” และกำหนดให้มี “ตำแหน่ง” เข้าใช้อำนาจรัฐ โดยมีกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งนั้นไว้ มิให้ยกสืบทอดกันเป็นมรดกในตระกูล 

ในโลกปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่ง ทำธุรกิจร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ตายไป ก็ยกมรดกให้ลูก เช่นนี้ คงไม่มีใครว่า เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เอกชน ครอบครัวตนเอง 

...

ถึงกระนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ยังมองว่าไม่เป็นธรรม ทำให้คนที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองเสียเปรียบ จึงได้คิดมาตรการสร้างความเสมอภาค เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น 

ในขณะที่ครอบครัวเศรษฐีเอง ก็ตระหนักดีถึง “กฎธรรมชาติ” ที่ว่า ความสามารถ อำนาจ บารมี ไม่อาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม พวกเขาจึงจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา 

แล้วถ้าเป็นรัฐ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องมหาชน เรื่องแดน Public มิใช่แดน Private ล่ะ? 

เราสามารถยอมให้การบริหารรัฐ กลายเป็นเรื่องของครอบครัว ตระกูล ได้หรือ? 

จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกรัฐ เป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ต้องยินยอมครอบครัวหนึ่ง ตระกูลหนึ่ง ยก “อำนาจรัฐ” ให้กันเองภายในตระกูล ราวกับเป็น “สมบัติ” เป็น “มรดก” ได้ 

สภาวการณ์ “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” วันนี้ นำมาซึ่ง “ประชาธิปไตย 2 ตระกูล”

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังตั้งคำถามว่า ควรเลือกทางไหนระหว่าง “กอด” ใบอนุญาตที่ 2 หรือ “ยึด” ใบอนุญาตที่ 2?

การเมืองไทยเป็น “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” ประชาชนมอบใบอนุญาต ให้ฉันทานุมัติ พรรคการเมืองไปตั้งรัฐบาล อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีใบอนุญาตอีกใบจากชนชั้นนำด้วย 

ในระยะหลัง พรรคการเมืองจำนวนมากตระหนักเรื่องนี้ดี จึงละทิ้งใบอนุญาตใบแรก เลือกที่จะควานหาใบอนุญาตใบที่ 2 จากชนชั้นนำ 

น้กข่าว นักวิเคราะห์การเมือง นักวิชาการ ต่างออกโรงเตือนว่า คุณแพทองธาร ชินวัตร กำลังตกอยู่ในสถานะ “ตัวประกัน” และอยู่ใน “กับดักทางรัฐธรรมนูญ” จนอาจประสบชะตากรรม “นิติสงคราม” แบบเดิมๆ จำพวก ปลด ถอนถอน ยุบ ตัดสิทธิ ดำเนินคดี 

ผมเห็นว่า สถานการณ์เหล่านี้คงไม่เกิด ตราบใดที่รัฐบาลแสดงออกอย่างให้เห็นประจักษ์ชัด แสดงออกให้มาก ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น ทุกเทศกาล ทุกวโรกาส ว่า ยังคงเอาอกเอาใจ น้อมนำรำลึก ปฏิบัติตามผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตทึ่ 2 

พูดให้ชัด ก็คือ พวกเขาคงเลือกหนทาง “กอด” ใบอนุญาตที่ 2 เอาไว้ ถ้ารู้สึกว่าจะหลุดมือ ก็จะยิ่งควานหาและกอดเอาไว้ให้แน่นขึ้น เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในตำแหน่งของตน 

วิธีการดังกล่าว อาจได้ผลเลิศ แต่เป็นผลเลิศระยะสั้น ชั่วคราว และไม่ส่งผลดีต่อประชาชนคนไทย ทำให้ระบบการเมืองบิดเบี้ยววิปริตไปเรื่อย 

ทางที่ถูกต้อง คือ หันหน้ามารวมพลัง “ยึด” ใบอนุญาตใบที่ 2 กันดีกว่า 

ให้เหลือใบอนุญาตใบเดียวจากประชาชน 

เพราะ ประชาชน คือ ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน