เปิดประวัติ “อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” ลูกไม้หล่นใต้ต้น “ทักษิณ ชินวัตร” หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย ล่าสุด กก.บห.พรรคเคาะแล้ว ส่งชื่อเป็นนายกฯ คนที่ 31

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันมีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) จากกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นตำแหน่งต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อนายเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงทำให้ต้องมีการให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือ นายกฯ คนที่ 31 และฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้นใหม่ด้วย ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งเรียกประชุมนัดพิเศษ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. วาระด่วน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น ต้องมาจากรายชื่อแคนดิเดตที่เคยยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งเมื่อตัด นายเศรษฐา ออกไปแล้ว จะยังเหลือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่อีก 7 คน จาก 5 พรรคการเมือง ดังนี้ 

...

7 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 31

พรรคเพื่อไทย 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค
นายชัยเกษม นิติสิริ

พรรคภูมิใจไทย 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

พรรคพลังประชารัฐ 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

พรรครวมไทยสร้างชาติ 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี)
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย มีความเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพของ นายชัยเกษม และมีความเห็นร่วมกันว่าควรเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเหมาะสม จึงสื่อสารไปยังทางครอบครัวชินวัตร ว่า สส. มีความเห็นร่วมกันแบบนี้ ที่สุดแล้วทางครอบครัวรับฟังความคิดเห็น และยอมให้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

ประวัติอิ๊งค์ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่31 

สำหรับประวัติของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ชื่อเล่น อิ๊งค์ เป็นบุตรคนสุดท้ายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มีพี่น้อง 2 คน คนโตคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ หรือ เอม โดย อิ๊งค์ แพทองธาร เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2529 และจะมีอายุครบ 38 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 

ประวัติการศึกษา อิ๊งค์ แพทองธาร จบการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท Msc International Hotel Management มหาวิทยาลัย Surrey สหราชอาณาจักร ในช่วงชีวิตการทำงาน ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหาร กลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัทเรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด กรรมการบริษัทธุรกิจในเครือโรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ, โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ และสนามกอล์ฟอัลไพน์ โรงแรมเอสซี ปาร์ค

เส้นทางการเมืองของแพทองธาร 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทยที่ จ.ขอนแก่น ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย มีการประกาศเปิดตัว น.ส.แพทองธาร เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค ต่อมาในการประชุมของพรรคเพื่อไทย วันที่ 20 มีนาคม 2565 ได้รับตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก่อนจะเปิดตัวว่าพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน, นายชัยเกษม นิติสิริ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 

ทั้งนี้ ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 มีวลีที่ น.ส.แพทองธาร ประกาศอย่างฮึกเหิมในการหาเสียงโค้งสุดท้าย และถูกพูดถึงไปทั่วโซเชียลมีเดีย ว่า “พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศไทยเปลี่ยนทันที ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป. คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมกันค่ะ” อีกทั้งยืนยันจุดยืนมาเสมอในการหาเสียงว่าจะไม่จับมือกับฝ่ายที่เคยทำรัฐประหาร แต่ภายหลังผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ประกาศจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอื่นๆ แต่ไม่สำเร็จ จึงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชาติ และพรรคอื่นๆ รวม 314 เสียง ทำให้พรรคก้าวไกล ถูกผลักให้กลายเป็นฝ่ายค้านในทันที

เลือกนายกฯ ใหม่ใกล้วันเดิมในปีก่อน

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ได้รับการเสนอชื่อและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา จากทั้ง สส. และ สว. รวม 482 เสียง ได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อมา น.ส.แพทองธาร ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, ประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และรองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

โดยภายหลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อรับผิดชอบคำพูดหลังจากนำพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมสิ้นสุดลงทั้งคณะ กระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และที่ประชุมมีมติเลือก น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นับเป็นคนที่ 8 และยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในปี 2567 เจ้าตัวยังได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (มินิ วปอ.) ด้วย

ขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 โดยขณะนี้ชื่อที่คาดว่าจะเป็นตัวเต็งคือ นายชัยเกษม และ น.ส.แพทองธาร เนื่องจากเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุด ที่ประชุม กก.บห.พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ (15 สิงหาคม 2567) มีมติเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และมีพรรคร่วมรัฐบาลแถลงสนับสนุน ต้องติดตามกันต่อในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ว่า ลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 31 ด้วยคะแนนเท่าไหร่.