ในที่สุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยก็ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความส่วนตัวของ คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยถูกศาล ฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นรัฐมนตีสำนักนายกฯ

อดีตนายกฯเศรษฐา เป็นนายกฯคนที่ 3 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สอยลงจากตำแหน่งนับตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญคนแรกคือ นายสมัคร สุนทรเวช คนที่ 2 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คำแถลงศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ มีมติให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ส่วน ตุลาการเสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ประธานศาล รธน.) นายนภดล เทพพิทักษ์ นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็น “บทเรียนสำคัญ” สำหรับ นายกรัฐมนตรีคนต่อๆไป ในการลงนามแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยศาลระบุว่า “พิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามคำปรารภที่ว่า รัฐ ธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.

...

ผู้ถูกร้องที่ 1 อ้างว่า ตนมีภูมิหลังประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น นายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ...

ข้อเท็จจริงปรากฏใน คำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกา โดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษดังกล่าวมีเงินสดอยู่ ผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวในลักษณะตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรืออาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ศาลได้สั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 ฐานละเมิดอำนาจศาล ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป และสภาทนายความก็ได้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ

ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอด แต่ยังเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ผมหวังว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กร จะช่วยให้ประเทศไทยมี ครม.มือสะอาด เกิดขึ้นมาในอนาคต เพื่อฉุดประเทศไทยของเราให้หลุดพ้นจากหุบเหวแห่งการคอร์รัปชันที่นำความตกต่ำมาสู่ชาติบ้านเมือง เสียที.

"ลม เปลี่ยนทิศ"

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม