“อ.ธงทอง” ขอบคุณ “เศรษฐา” ให้โอกาสได้ทำงาน ย้อนเล่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ยัน อดีตนายกฯ คนที่ 30 ให้อิสระและสนับสนุนการทำงานเต็มที่ รับฟัง-พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ (เกิด 8 มิถุนายน พ.ศ. 2498) อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บอกเล่าถึงการได้ร่วมทำงานกับ นายเศรษฐา ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยังมีผลทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นไปทั้งคณะด้วย
ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุว่า 7-8 เดือนที่ผ่านมา ตนเองได้รับมอบหมายจากอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นประธานคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ โดยตนมีอิสระเต็มที่ ที่จะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายมาเป็นกรรมการ รวมถึงการเลือกกำหนดหน่วยงานที่จะมีหัวหน้าหน่วยงานมาร่วมเป็นกรรมการด้วย “แม้เป็นเวลาไม่นานนักและยังมีงานค้างอีกหลายชิ้น แต่เพียงเท่าที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมตรวจการบ้านตัวเองแล้วอยากให้คะแนนว่า ไม่ขี้ริ้วครับ”
พร้อมเล่าต่อไปว่า ขึ้นต้นตั้งแต่การประชุมครั้งแรก เราระดมสมองและมีความเห็นร่วมกันว่าปัญหากฎหมายที่ต้องแก้ไขปรับปรุง มีทั้งระดับที่เป็นพระราชบัญญัติ และที่เป็นอนุบัญญัติย่อยกว่านั้น หรือแม้แต่เป็นแนวปฏิบัติที่เคยทำต่อเนื่องกันมาบ้าง เป็นมติ ครม. บ้าง วิธีการแก้ไขก็ต้องใช้กลไกต่างกัน สิ่งที่เราเห็นพ้องกันอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาที่มีมากมายเป็นท้าวแสนปมในเวลาที่มีอยู่จำกัด เราน่าจะเลือกเฉพาะประเด็นที่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วแต่ส่งผลในวงกว้างมาทำงาน น่าจะดีที่สุด
...
ประเด็นที่เราหยิบขึ้นมา หัวข้อสำหรับทำงานสามารถแบ่งย่อยเป็น 4 กลุ่มเรื่อง กลุ่มที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของการทำงาน การเข้าเมืองและเรื่องที่เกี่ยวข้องของแรงงานต่างด้าว ทั้งในระดับที่เป็นมันสมองซึ่งบ้านเราขาดแคลน ระดับกลาง และระดับแรงงาน กลุ่มที่ 2 ว่าด้วยธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการถ่ายทำภาพยนตร์ของคณะจากต่างประเทศ กลุ่มที่ 3 ว่าด้วยเรื่องสินค้าผ่านแดนและสินค้าถ่ายลำ และกลุ่มที่ 4 เป็นเรื่องของพลังงานสะอาด และประเด็นเรื่องพลังงานทั้งหลาย แต่ละกลุ่มมีคณะอนุกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบช่วยกันคิดช่วยกันทำงาน
อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า บางครั้งก็มีโจทย์หรือคำถามตรงมาจากนายกรัฐมนตรี เช่น ทำอย่างไรการส่งสินค้าผ่านแดนทั้งขาเข้า-ขาออกที่ด่านจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และประเทศจีน เป็นประตูการค้าสำคัญของบ้านเราจะมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมีหน่วยร่วมปฏิบัติหลายกระทรวงหลายกรม เรื่องนี้ตนได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องที่ จ.หนองคาย แล้วกลับมาคุยกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงทั้งหลาย การแก้ไขระบบระยะแรกสามารถทำงานได้สิ้นเดือนกันยายนนี้ และระบบใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันเต็มรูปจะทำงานได้ภายในสิ้นปี 2567
ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับเสียงบ่นพึมพำมาช้านานเกี่ยวกับเรื่องความช้าและขั้นตอนต่างๆ ที่ยืดยาว ท่านนายกรัฐมนตรีฝากให้ตนไปช่วยพูดคุยหารือรายละเอียดกับผู้บริหารของหน่วยงาน ปรากฏว่าเราสามารถลดเวลาและขั้นตอนของกระบวนงานหลายอย่างลงได้อย่างน่าพอใจ เช่นเดียวกับภารกิจของกรมการจัดหางาน ตนได้รับความกรุณาเอื้อเฟื้อจากอธิบดีและเพื่อนข้าราชการ แก้ไขกฎระเบียบหลายอย่างให้ทะมัดทะแมงขึ้น จนได้รับคำชมเชยจากภาคเอกชนที่ต้องติดต่อธุระการงานด้วยหลายหน่วยหลายคน ขอขอบคุณผู้บริหารและเพื่อนข้าราชการทุกคน
ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าถ่ายลำ ซึ่งหมายถึงการที่มีเรือสินค้าลำใหญ่มาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วถ่ายสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในคอนเทนเนอร์ลงไปในเรือลำเล็กเพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค กำลังใกล้จะเสร็จเป็นร่างแรกแล้ว หวังว่างานชิ้นนี้จะไม่สูญหายไปกลางอากาศ และจะมีใครหยิบไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ขณะเดียวกัน สมควรเล่าด้วยว่าในระหว่างหนทางประมาณครึ่งปีที่ตนและเพื่อนร่วมคณะทำงานมา มีนักธุรกิจทั้งไทยและเทศ ให้ความสนใจและเข้ามาพูดคุยกับผมอยู่เป็นประจำ มีหอการค้าจากหลายประเทศตัวอย่าง เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ติดต่อกับตนด้วยเรื่องการงานเหล่านี้อยู่เสมอ ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์มานี้ ก็มีสมาคมการค้าจากยุโรป ซึ่งเป็นผู้แทนของหลายประเทศในภูมิภาคนั้นเข้ามาพูดคุยหารือ มีบางประเด็นที่เสนอใหม่และผมได้รับไว้เพื่อคิดอ่านต่อไป รวมทั้งเป็นโอกาสให้ผมได้เล่าความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ร่วมสนทนาได้รับทราบด้วย สังเกตดูท่าทีของผู้มาพบแล้ว เป็นไปด้วยความสบายใจ
“แน่นอนว่าในการทำงานอย่างนี้ คณะกรรมการ รวมทั้งตัวผม ไม่ได้ทำงานอยู่โดยลำพัง แต่ได้รับความสนับสนุนในทางนโยบายจากนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ การรายงานความคืบหน้า หรือเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นการรายงานตรง รวมถึงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่างผมกับนายกรัฐมนตรีในประเด็นเหล่านั้นด้วย อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ทีมงานฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ท่านรองเลขาธิการ อารีย์พันธ์ เจริญสุข และน้องๆ อีกจำนวนมาก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสผมได้ทำงานครั้งนี้ และผมเชื่อว่าความรู้สึกที่อยู่ในใจผมเวลานี้จะไม่ต่างกับความรู้สึกของเพื่อนกรรมการของผมทุกท่าน”
ในตอนท้าย ศ.พิเศษ ธงทอง ยังได้ขอขอบคุณเพื่อนกรรมการทุกท่านทั้งที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งและในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ช่วยกันทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ตนเองไม่เคยได้เล่าเรื่องนี้ให้สาธารณชนฟังเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเฟซบุ๊กนี้มาก่อน เพราะอาจจะถูกแปลความเป็นประเด็นอื่นที่ตนไม่พึงประสงค์ได้ แต่เวลานี้ในเมื่อภารกิจของคณะกรรมการจบสิ้นลง เพราะเป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่าเป็นเวลาที่ควรจะเล่าสู่กันฟังได้แล้ว จริงไหมครับ.