“ชัยเกษม นิติสิริ” จากอัยการสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถูกบ้านจันทร์ส่องหล้าเสนอชื่ออีกครั้ง เป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป แทน “เศรษฐา ทวีสิน” หลังหลุดเก้าอี้ เพราะตั้ง “พิชิต” เป็นรัฐมนตรี
หลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) กรณี แต่งตั้งให้ นายพิชิต ชื่นบาน นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ นายพิชิต เคยถูกตัดสินว่าละเมิดอำนาจศาล และศาลมีคำสั่งให้จำคุก 6 เดือน
โควตาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจึงเหลือ 2 คน คือ นายชัยเกษม นิติสิริ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ล่าสุดมีรายงานข่าวจากบ้านจันทร์ส่องหล้าที่ยืนยันว่า เก้าอี้นายกฯ ต้องเป็นของเพื่อไทย พร้อมเคาะชื่อ นายชัยเกษม เป็นตัวเต็งเข้าชิงเก้าอี้นายกฯ ในวันที่ 16 ส.ค. 2567 นี้
สำหรับ ประวัติ ชัยเกษม นิติสิริ เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2491 ปัจจุบันอายุ 75 ปี มีบิดาเป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญ จบการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนการศึกษาประเภทเรียนดี จากมูลนิธิ จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ จบการศึกษาระดับปริญญาโท L.L.M. จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลตามความต้องการของ กรมอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และทุนของมูลนิธิ Starr ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาเนติบัณฑิตไทยจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางอัมพร นิติสิริ
เริ่มชีวิตการทำงานด้วยการรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดสมุทรสาคร จนได้เลื่อนขั้นในตำแหน่งสูงสุด คือ การเป็นอัยการสูงสุด และยังเป็นอดีตอัยการอาวุโส (ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด) สำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากนี้ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
...
เส้นทางการเมือง
ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, กรรมการ คณะที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีการวิจารณ์ในสื่อมวลชนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ พยายามตอบแทนตำแหน่งให้ เนื่องจากสมัยที่ นายชัยเกษม ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร จากกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้องฐานร่ำรวยผิดปกติ
ในการเลือกตั้งปี 2557 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในลำดับที่ 5 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายชัยเกษม ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล เพื่อร่วมเจรจาหาทางออกวิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ และยืนยันว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ขอลาออก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ทุบโต๊ะประกาศยึดอำนาจ
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 นายชัยเกษม ได้ถูกพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อสักคน เพราะมีจำนวน สส.มากกว่าจำนวน สส.พึงมี
ในการเลือกตั้งปี 2566 นายชัยเกษม ก็ยังเป็น 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน และถูกวางตัวเป็น สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10 ก่อนจะลาออกไป มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา
กระทั่ง นายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง บ้านจันทร์ส่องหล้าจึงเคาะรายชื่อเลือก นายชัยเกษม ขึ้นมาชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แทนบุตรสาวอย่าง นางสาวแพทองธาร.