ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล “เราไปต่อ”

แบนเนอร์หลักเว็บไซต์พรรคก้าวไกลล็อกแช่แข็งไว้ ตั้งแต่วันถูกประหารชีวิตพรรค ตามด้วยคลิป “ข้าไม่ตาย” ปลุกใจแฟนคลับส้มจี๊ด เปิดแอร์วอร์จากส่วนกลาง และในแต่ละจังหวัดที่มี สส.วางงานขับเคลื่อนทันที เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมกับมวลชนให้เห็นถึงแนวทางการสร้าง “พรรคประชาชน” ชนิดไร้รอยต่อ

จังหวัดไหนมี สส.เยอะผุดงาน “ก้าวแคมป์” วางโมเดลเปิดฉากดาวกระจาย แยกทำกิจกรรมแต่ละเขต เปิดแคมเปญ “ชวนแม่มาสมัครสมาชิก”

ตีปี๊บ “พรรคใหม่-เพิ่มสมาชิก-เลี้ยงกระแส”

ก้าวต่อไปประเทศไทยไม่เหมือนเดิมชัวร์

เฉพาะแค่เปิดรับบริจาควันเดียวตั้งเป้า 10 ล้านบาท ปรากฏว่ายอดทะลุเป้า นั่นหมายถึงประชาชนมีอารมณ์ร่วมรุนแรง ร่วมกันต่อไปเพื่อชัยชนะ

แม้ช่วงลอกคราบจากพรรคก้าวไกลสู่พรรคประชาชน ยุทธศาสตร์เตรียมปรับโทนให้ดูนิ่มนวลขึ้น แต่เนื้อหายังคงเดิมในการเขย่าปฏิรูปโครงสร้างประเทศไทยด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแก้ไขมาตรา 112

“ปัจจัยมีทั้งโอกาส-ข้อจำกัด” นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง และเป็น 1 ใน 44 สส.ที่ติดบ่วงคดีจริยธรรม ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เข้าสังเกตการณ์ถ่ายเลือดของพรรค ขยับมุมคิดให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนพรรคประชาชน

โดยชี้ถึงโอกาสพรรคประชาชน เซตทีมแข็งมาก โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ มาเสริมทัพ ยังมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล และเปิดตัวนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นแม่ทัพคนใหม่ มั่นใจทำได้ดีมากแน่ๆ และมี สส.ตบเท้ามาครบถ้วน 143 คน ชนิดน้ำไม่กระฉอก

...

ตอนแรกเชื่อใจเพื่อนๆ สส.ทุกคน แต่นึกว่าน่าจะมีสักนิดที่ลังเล และยอดบริจาคภายในวันเดียวก็เกินเป้าที่ตั้งเอาไว้ แสดงว่าประชาชนมั่นใจ

“อนาคตใหม่” ของ “ก้าวไกล” คือ “ประชาชน”

และก่อนโดนยุบพรรค กระแสของพรรคก็ไปไกล ผลนิด้าโพลครอบคลุมทุกกลุ่ม รุ่นใหม่ รุ่นใหญ่ คนเมืองใหญ่ ชนบท ชาวนา กรรมกร ครบทุกกลุ่มแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบวก

ไม่เหมือนตอนยุคก้าวไกลที่ยังเซตทีมไม่แข็งแรง ประชาชนยังไม่รู้จักนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (เข้ามาใหม่ๆช่วงนิด้าทำโพล ปี 63 มีคะแนนนิยมเพียง 3% ล่าสุด 30 มิ.ย.67 ได้ 45.50% ก้าวไกล 49.20% ทิ้งห่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และพรรคเพื่อไทยได้เพียง 12.85% และ 16.85% ตามลำดับ) รวมถึงมีงูเห่าเยอะมาก พรรคแทบแตก แย่เลย

ส่วนข้อจำกัดอยู่ที่กรอบวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตัวบอกคนของพรรคประชาชน และ สส.ในสภาผู้แทนราษฎรทุกคนว่า สภาทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตไปในทางลบ แต่ไม่แปลกใจ ทั้งหมดเกิดจากกลไกรัฐธรรมนูญ 60

ต่อให้ไม่มี สว. 250 คน ยังมีร่มเงาการสืบทอดอำนาจ ไม่ยอมให้ประเทศเบ่งบานเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

บรรทัดฐานที่เกิดขึ้นโยงไปถึง “จริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งมีปัญหาที่ไม่ได้นำไปจัดการกับนักการเมืองในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ค้ายาเสพติด มีประวัติฆ่าคน ฟอกเงิน ซุกหุ้น ที่มีหลักฐานคาหนังคาเขา คดีเป็นที่สิ้นสุดถึงเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงได้

เสนอแก้กฎหมาย 112 โดนทีเดียวยกลอต 44 คน

แม้ติดบ่วง แต่พรรคประชาชนยังคงเดินหน้าต่อ

“นับเป็นจุดสมดุลระหว่างการสัญญากับประชาชนกับยืนยันอำนาจนิติบัญญัติต้องไปต่อ โดยหัวหน้าพรรคประกาศชัดไม่ลดเพดาน ภายใต้หัวใจสำคัญไม่นำปมนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

หากทำตามที่บางองค์กรกำหนด นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มันย่อมเป็นอันตรายต่อโครงสร้างนิติบัญญัติที่เป็นองค์กรออกกฎหมาย

ทั้งหมดต้องทำด้วยความรอบคอบ รอดูคำวินิจฉัยเต็มส่วนแต่ละท่านก่อน เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เอาปมนี้มาหยุดยั้งความพร้อมของเราในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 70”

พรรคประชาชนเป็นพรรคสุดท้ายที่เป็นอมตะ ซึ่ง สส.และแกนนำของพรรควางยุทธศาสตร์เอาไว้ แต่สถานการณ์จริงยังต้องเผชิญกับขวากหนาม แกนนำกลุ่มอนุรักษ์นิยม บรรดาทุนใหญ่ แกนนำนักการเมืองใหญ่ และกับดักในรัฐธรรมนูญอีก นายปดิพัทธ์ บอกว่า สิ่งที่ถามทั้งหมดเป็นต้นตอทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถึงตั้งชื่อว่า “ประชาชน”

อาทิ ปลาหมอคางดำยังเอาคนผิดไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่าใครเอาเข้ามา ทุนที่ดินเป็นใคร ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องที่ดิน ทุนจีนสีเทาใกล้ชิดกับทุนอะไร ทุนพลังงาน ประชาชนเดือดร้อนค่าไฟแพง ปัญหาทั้งหมดไม่มีทางแก้ไขแน่

หากประชาชนเห็นว่าเรายึดผลประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ทำให้ระบบมันยุติธรรม ชอบธรรม พรรคประชาชนก็มีประชาชนเป็นพนักพิง หากเราทำตัวเหมือนพรรคเดิมๆ เข้าหาผู้มีอำนาจ หาเพื่อนคบไว้ เกรงใจคนนั้นคนนี้ ประเทศไทยก็เหมือนเดิม ตั้งพรรคอะไรขึ้นมาก็คล้ายพรรคใหญ่ในอดีต

“วันนี้ชนชั้นนำอยากรัฐประหาร หรือเปลี่ยนระบอบการปกครอง ไม่เอาประชาธิปไตยแล้ว หากเดินทางไปสุดโดยไม่สนใจระบอบประชาธิปไตย เพราะเลือกตั้งอย่างไรพวกนี้ก็ชนะ ไทยก็กลายเป็นพม่า

ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งก่อน โดยมีแค่พรรคเดียวที่ตั้งรัฐบาลได้ ไทยก็กลายเป็นกัมพูชา ทั้งสองรูปแบบไม่มีผลดีต่อประเทศไทย”

ฉะนั้นสิ่งที่ที่ประชุมพรรคพูดคงไม่ถึงขนาดนั้น แค่เรามีเจตจำนงว่าไม่ควรมีพรรคการเมืองถูกยุบอีก ยุบก้าวไกลขอให้เป็นพรรคสุดท้าย

พรรคการเมืองไม่ถูกยุบเตรียมแอ็กชันในสัปดาห์นี้

โดยเพื่อนของผม คือนายพริษฐ์ เตรียมเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอาศัยกฎหมายฉบับนี้มาล้มพรรคก้าวไกล ทั้งที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 แต่ดันไปโผล่อยู่ในกฎหมายฉบับนี้

ฉะนั้นสภามีอำนาจแก้กฎหมาย หากพรรค การเมืองทั้งหลายเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทยเห็นตรงกันก็แก้ได้ ส่วนวุฒิสภาเป็นสายสีน้ำเงินอยู่แล้ว เชื่อว่าคุยกันได้

เพราะยุบพรรคมันไม่มีผลดีต่อสถาบันต่างๆ

ดูทรงหัวหน้าพรรคประชาชนมีโอกาสสร้างคะแนนนิยมเหมือนนายพิธาได้แค่ไหน เพราะกว่านายพิธาก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึงแสดงภาวะความเป็นผู้นำ บวกจังหวะเวลาถึงฮอตเป็นเบอร์หนึ่งทางการเมืองได้ นายปดิพัทธ์ บอกว่า แน่นอน

สิ่งที่น่าสนใจคือ คะแนนพรรคนำคะแนนนายพิธา บ่งบอกว่าประชาชนนิยมพรรคมากกว่าตัวบุคคลกลายเป็นสถาบันการเมืองไปแล้ว ไม่ใช่พรรคการเมืองแบบตระกูล

ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ไม่มีอยู่ในพรรคประชาชนแน่

ผู้นำรุ่นใหม่ก็ผ่านสงครามมาตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่

ผู้นำมาจากคนใน ไม่ได้ลอยมาจากคนนอกสักคน เราทำการเมืองเสมอต้นเสมอปลาย ถึงวันนี้เชื่อมั่นผู้นำรุ่นใหม่ทำได้ดี มั่นใจในเพื่อนของเรา

แต่ผลโพลไม่มีทางว่าโผล่มาแล้วคะแนนนิยมดีทันที ก็ต้องใช้สิ่งที่นายพิธาพูด คือดูผลโพลแล้ว ตอนกระแสขึ้นไม่หลง ตอนลงไม่ท้อ ยังมีเวลาในการทำงานอีกเยอะ และการเซตทีมรุ่นใหม่ต้องใช้เวลา มันจะเซตระบบเร็วกว่าตอนอนาคตใหม่และก้าวไกลเยอะ

แต่ยังมีดาบสอง คดีจริยธรรม 44 สส.ที่จ่อประหารชีวิตทางการเมืองตลอดชีวิต 1 ใน 44 สส.มีหัวหน้าพรรคอยู่ด้วย ที่เหลือล้วนเป็นตัวหลักของพรรค หากตัวหลักถูกประหารชีวิตทางการเมืองหมดจะทำอย่างไร นายปดิพัทธ์ บอกว่า ศาลฎีกาดูพฤติกรรม และองค์ประกอบทางกฎหมาย การกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงทั้ง 44 คน ได้รับผลที่ไม่เหมือนกันแน่

หากโดนประหารชีวิตหมดก็ยังเหลือ สส.อีก 99 คน

รอเวลาชนะเลือกตั้งแล้วกลับเข้ามาแก้ไขระบบ.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม