แม้จะมีคนไม่ใช่น้อยที่ไม่เห็นด้วย กับการยุบพรรคก้าวไกล แต่ทุกคนต้องยอมรับ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศประกาศิตไว้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีความผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลองค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ แต่เหตุผลการยุบพรรค อาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เหตุที่ต้องยุบพรรค เพราะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 เป็นผลจากพรรคก้าวไกลประกาศนโยบาย แก้ไข ป.อาญา ม.112 มีทั้งใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และเสนอร่างแก้ไขเข้าสภา แม้จะยังไม่ผ่าน
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่าคำวินิจฉัยศาล ไม่ได้ห้ามแก้ไข ม.112 สอดคล้องกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่กล่าวว่า กลุ่มความคิดอนาคตใหม่ และก้าวไกล สถาปนาเป็นแนวคิดใหม่ทางการเมือง แล้ว ยืนยันการดำรงอยู่ของสถาบัน อย่างมั่นคง ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องแก้ไข ม.112
ที่ผ่านๆ มา มีการปล่อยแนวความคิดจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อ้างทำนองว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ห้ามแก้ไข ห้ามแตะต้อง แต่ในอดีตเคยมีการแก้ไขเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มโทษให้หนักขึ้น จาก จำคุก ไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี โทษเท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไข ม.112 ซ้ำยังบัญญัติไว้ใน ม.256 (8) ว่าถ้าจะแก้ไขหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ถ้าเห็นชอบด้วยให้แก้ไขได้ แม้แต่หมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่แค่ ป.อาญา ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นสถาบัน
ถ้ายึดตามกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องถือว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ และเคยมี “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.) ซึ่งมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้เสนอให้รัฐบาลและรัฐสภา ใช้ความกล้าหาญทางการเมือง แก้ไข ม.112 เพื่อไม่ให้ถูกนำไปกลั่นแกล้งทางการเมือง
...
คอป.เห็นว่า ม.112 ในปัจจุบัน ระวางโทษในอัตราที่สูง ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด จึงทำให้นักการเมืองฉวยโอกาสนำไปกลั่นแกล้ง หรือขจัดศัตรูทางการเมือง จึงควรแก้ไข โดยศึกษาแบบอย่างจากนโยบายทางอาญาของประเทศต่างๆ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดอง หลังเหตุการณ์รุนแรง 2553.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม