ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ชี้ มีอำนาจพิจารณา ระบุข้อแก้ต่างของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น สมาชิกและพรรคพวกมีเจตนาล้มล้างการปกครอง และมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์

วันที่ 7 ส.ค. 2567 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 

โดย 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์  9 ต่อ 0 สั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยศาลยืนยันว่ามีอำนาจพิจารณาคดี พร้อมระบุข้อแก้ต่างของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น สมาชิกและพรรคพวกมีเจตนาล้มล้างการปกครอง และมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง

พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ 25 มี.ค. 2564 - 31 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่กระทำความผิด 10 ปี พร้อมห้ามกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว ไปจดทะเบียนหรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

“คำว่าปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรง หรือตั้งตนเป็นศัตรู แค่การการทำที่ขัดขวาง ก็เป็นปฏิปักษ์แล้ว” 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

...

สำหรับมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) : ยุบพรรค

นายปัญญา อุดชาชน : ยุบพรรค

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม : ยุบพรรค

นายวิรุฬห์ แสงเทียน : ยุบพรรค

นายจิรนิติ หะวานนท์ : ยุบพรรค

นายนภดล เทพพิทักษ์ : ยุบพรรค

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ : ยุบพรรค

นายอุดม รัฐอมฤต : ยุบพรรค

นายสุเมธ รอยกุลเจริญ : ยุบพรรค